ครม.เห็นชอบมอบของขวัญปีใหม่ให้แก่ประชาชน

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้รับทราบการดำเนินโครงการเพื่อมอบของขวัญปีใหม่ 2565 ให้แก่ประชาชนของกระทรวงและส่วนราชการหลายหน่วยงาน ตามข้อสั่งการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ที่ได้สั่งการให้แต่ละหน่วยงานมอบของขวัญปีใหม่เพื่อเป็นกำลังใจแก่ประชาชนในช่วงเทศกาลปีใหม่และแบ่งเบาภาระในช่วงที่ยังได้รับผลกระทบจากโควิด-19  ดังนี้

กระทรวงการคลัง 

1. มาตรการช้อปดีมีคืน

หลักเกณฑ์และเงื่อนไข

- สำหรับการซื้อสินค้าหรือการรับบริการในราชอาณาจักร

- ซื้อสินค้าหรือการรับบริการตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 30,000 บาท

- ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2565 ถึงวันที่ 15 ก.พ. 2565

การซื้อสินค้าและบริการที่ได้รับสิทธิ์

- ค่าสินค้า

- ค่าบริการ

- รวมถึงค่าสินค้า OTOP

สินค้าและบริการที่ไม่ได้รับสิทธิ์

- ค่าสุรา เบียร์ ไวน์

- ค่ายาสูบ

- ค่าน้ำมันและก๊าซสำหรับ เติมยานพาหนะ

- ค่ารถยนต์ รถจักรยานยนต์ และเรือ

- ค่าหนังสือพิมพ์และนิตยสารและค่าบริการ หนังสือพิมพ์ และนิตยสารที่อยู่ในรูปของข้อ มูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต

- ค่าบริการจัดนำเที่ยวที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว และมัคคุเทศก์

- ค่าที่พักในโรงแรมที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรม

- ค่าสาธารณูปโภค

- ค่าน้ำประปา

- ค่าไฟฟ้า

- ค่าบริการสัญญาณโทรศัพท์

- ค่าบริการสัญญาณอินเทอร์เน็ต

- ค่าบริการสำหรับบริการที่มีข้อตกลงการให้บริการระยะยาว ซึ่งเริ่มต้นก่อนวันที่ 1 ม.ค. 2565 แม้ว่าจะจ่ายค่าบริการระหว่างวันที่ 1 ม.ค. 2565 ถึงวันที่ 15 ก.พ. 2565

- ค่าเบี้ยประกันวินาศภัยเพื่อสนับสนุน ผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบภาษี และผู้ประกอบกิจการ

- การผลิตสินค้าท้องถิ่น (OTOP) โดยกลุ่มเป้าหมาย เฉพาะผู้มีเงินได้ซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้ บุคคลธรรมดา ไม่รวมถึงห้างหุ้นส่วนสามัญหรือ คณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล

2. โครงการคนละครึ่ง เฟส 4

สำหรับโครงการคนละครั้ง ระยะที่ 3 ที่จะสิ้นสุดในวันที่ 31 ธ.ค. 2564 นี้ ขณะที่มาตรการโครงการคนละครึ่ง เฟส 4 คาดการณ์ว่าจะเริ่มโครงการ ในเดือน มี.ค. 2565 ถึง เม.ย. 2565 เป็นระยะเวลา 2 เดือน เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ รักษากำลังซื้อและทำให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจ

ขยายโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐรอบใหม่เพื่อเป็นการช่วยเหลือประชาชนกลุ่มที่มีรายได้น้อย

คุณสมบัติ

- คนไทย อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป

- รายได้ต่อปีไม่เกิน 100,000 บาท หากเป็นรายได้ทั้งครอบครัวไม่เกิน 2 แสนบาทต่อปี

- หากมีบุตรจะคำนวณลดหย่อนให้เพิ่มเติม

สำหรับรายละเอียดการโอนเงิน

- ซื้อสินค้าในชีวิตประจำวัน 700 และ 800 บาทต่อเดือน

- ส่วนลดค่าก๊าซหุงต้ม 45 บาทต่อ 3 เดือน

- ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ประกอบด้วย

- ค่าโดยสารรถ บขส. 500 บาทต่อเดือน

- ค่าโดยสารรถไฟ 500 บาทต่อเดือน

- ค่าโดยสารรถไฟฟ้า ขสมก. MRT BTS และ แอร์พอร์ต เรล ลิงก์ 500 บาทต่อเดือน

- เฉพาะผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่อาศัยอยู่ในเขต กทม. และปริมณฑล

นอกจากนี้ยังมีการพิจารณาเตรียมเปลี่ยนให้ผู้ถือ "บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ" ใช้บัตรประชาชนเพียงใบเดียวแทนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐบัตรเดิม เพื่อใช้สำหรับรูดซื้อสินค้า และรองรับการโอนเงินที่รัฐบาลจะโอนให้ทุกเดือน โดยจะให้ผู้มีสิทธิเปิดให้ถือคนละใบ ทั้งนี้ "บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ" ใบเดิม ยังใช้งานได้ต่อเนื่องจนกว่าจะเริ่มใช้บัตรประชาชนในช่วงปีหน้า 2565

กระทรวงแรงงาน

ผู้ใช้แรงงานทั้งในและนอกระบบ ลดอัตราเงินสมทบของผู้ประกันตน ม.40 เพิ่มอัตราเงินสงเคราะห์จากกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างสูงสุด 100 เท่า

1. ลดอัตราเงินสมทบของผู้ประกันตนมาตรา 40 เหลือร้อยละ 60 เป็นระยะเวลา 6 เดือน มีรายละเอียดดังนี้

- ลดอัตราเงินสมทบเหลือ 42 บาทต่อเดือน จากเดิม 70 บาทต่อเดือน

- ลดอัตราเงินสมทบเหลือ 60 บาทต่อเดือน จากเดิม 100 บาทต่อเดือน

- ลดอัตราเงินสมทบเหลือ 180 บาทต่อเดือน จากเดิม 300 บาทต่อเดือน

ส่วนสิทธิประโยชน์ที่ผู้ประกันตนจะได้รับทั้ง 3 ทางเลือก ยังคงเดิมทั้งนี้จากการลดอัตราเงินสมทบดังกล่าว มีผู้ประกันตนมาตรา 40 ได้รับประโยชน์กว่า 10.57 ล้านคน เกิดหมุนเวียนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจกว่า 1,408 ล้านบาท

2. เพิ่มอัตราเงินสงเคราะห์จากกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างสูงสุด 100 เท่า เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ลูกจ้างที่ถูกนายจ้างเลิกจ้างหรือค้างจ่ายเงินเดือน ซึ่งได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ดังนี้

2.1 กรณีค่าชดเชย แบ่งเป็น

- อัตราค่าชดเชยจากเดิม 30 เท่า เพิ่มเป็น 60 เท่า ของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำสำหรับลูกจ้างที่มีอายุงาน 120 วัน แต่ไม่ครบ 3 ปี

- อัตราค่าชดเชยจากเดิม 50 เท่า เพิ่มเป็น 80 เท่า ของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำสำหรับลูกจ้างที่มีอายุงาน 3 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี

- อัตราค่าชดเชยจากเดิม 70 เท่า เพิ่มเป็น 100 เท่า ของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำสำหรับลูกจ้างที่มีอายุงาน 10 ปีขึ้นไป

2.2 กรณีเงินอื่นนอกจากค่าชดเชย อัตราเดิม 60 เท่า เพิ่มเป็น 100 เท่า ของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ

3. ฟรี! ดอกเบี้ย 0% นาน 12 เดือน สำหรับการกู้ยืมเงินจากกองทุนเพื่อผู้รับงานไปทำที่บ้าน เพื่อดูแลความเป็นอยู่ของแรงงานนอกระบบในกลุ่มผู้รับงานไปทำที่บ้านทั่วประเทศกว่า 6,000 คน โดยกรมการจัดหางานจะลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้หรือค่าธรรมเนียมเหลือร้อยละ 0 ต่อปี ในงวดที่ 1 - 12 โดยไม่ปลอดเงินต้น และงวดที่ 13 เป็นต้นไป จนสิ้นสุดสัญญาคิดอัตราร้อยละ 3 ต่อปี สำหรับวงเงินกู้ยืม ผู้รับงานไปทำที่บ้านรายบุคคลกู้ได้ไม่เกิน 50,000 บาท รายกลุ่มกู้ได้ไม่เกิน 300,000 บาท ผู้สนใจสามารถยื่นกู้ได้ที่สำนักงานจัดหางานกรุงเทพฯ และสำนักงานจัดหางานทุกจังหวัด ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2564 ถึง 31 สิงหาคม 2565 และทำสัญญากู้ยืมเงินภายใน 30 กันยายน 2565

มาตรการเยียวยาผู้ประกันตน ในกิจการสถานบันเทิงและผู้ประกอบอาชีพอิสระที่ทำงานเกี่ยวข้องกับสถานบันเทิงที่ได้รับผลกระทบ ดำเนินการโดยสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ประชาชนและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยสำนักงานประกันสังคม จะเยียวยาบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้ประกันตนในอัตรารายละ 5,000 บาท ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายโครงการทั้งสิ้น 121,431 คน รวมวงเงิน 607 ล้านบาท แบ่งเป็นผู้ประกันตน

- มาตรา 33 จำนวน 10,762 คน

- มาตรา 39 - 40 จำนวน 110,669 คน

กระทรวงพลังงาน

นอกจากนี้มีมติเห็นชอบมาตรการของขวัญปีใหม่ด้านพลังงานเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนประชาชนดังนี้

- ตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 30 บาท เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2564 – 31 มี.ค. 2565

- ให้บริษัทปตท.ตรึงราคาน้ำมันทุกชนิดตั้งแต่ 25 ธ.ค. 2564 – 4 ม.ค. 2565

- คงราคาขายปลีกเอ็นจีวีที่ 15.59 บาทต่อกก. มีผลตั้งแต่วันที่ 16พ.ย. 2564 – 15 ก.พ. 2565  

- ขยายความช่วยเหลือส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้ม(แอลพีจี)แก่กลุ่มร้านค้าหาบเร่แผงลอยอาหารที่เป็นผู้มีรายได้น้อยบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 100 บาทต่อคนต่อครัวเรือนตั้งแต่ 1 - 31ม.ค. 2565

- ขยายระยะเวลาคงราคาขายส่งหน้าโรงกลั่นแอลพีจี ซึ่งไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มโดยกำหนดราคาขายปลีกอยูที่ 318 บาทต่อถังขนาด 15 กก. ผลบังคับใช้ถึงวันที่ 31 ม.ค. 2565

แจกคูปองส่วนลดสำหรับซื้ออุปกรณ์ไฟฟ้าเบอร์ 5 และสินค้าชุมชน

- แจกคูปองส่วนลดสำหรับอุปกรณ์ไฟฟ้าเบอร์ 5 สิทธิละ 500 บาท จำนวน 10,000 สิทธิ

- แจกคูปองส่วนลดร้อยละ 50 สำหรับซื้อสินค้าชุมชนมูลค่าส่วนลดไม่เกิน 300 บาท จำนวน 28,000 สิทธิ

- แจกคูปองส่วนลดสำหรับที่พักเขื่อนการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) สิทธิละ 2 ห้อง จำนวน 15,000 สิทธิ

นอกจากนี้ยังขยายการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิต น้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องบิน อัตราภาษีตามปริมาณ 0.20 บาทต่อลิตร ออกไปอีก 6 เดือน โดยเริ่มตั้งแต่ 1 ม.ค. - 30 มิ.ย. 2565 เพื่อสนับสนุน อุตสาหกรรมท่องเที่ยว โดยเฉพาะธุรกิจสายการบินให้สามารถฟื้นฟูและกลับมาดำเนินธุรกิจได้โดยเร็วโดยคาดว่าการท่องเที่ยวในปี 2565 ธุรกิจสายการบินจะกลับมาดำเนินธุรกิจได้ราว 50% ของการท่องเที่ยวเมื่อปี 2562 ซึ่งมาตรการดังกล่าว คาดว่ารัฐจะสูญเสียรายได้ 860 ล้านบาท.


Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar