"แพทย์แผนจีน" แนะนำ ผู้เคยติดเชื้อ "โควิด-19" อาจเผชิญภาวะมีลูกยาก

สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส "โควิด-19" ในประเทศไทย ล่าสุดจากการรายงานของ ศบค. พบว่าตัวเลขยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่เริ่มลดลงเรื่อยๆ รวมทั้งยอดผู้ป่วยที่รักษาตัวจนหายดีนั้น ก็มีจำนวนมากเช่นกัน แต่ขึ้นชื่อว่าติดเชื้อโควิดมาแล้ว แม้จะรักษาจนหายดี ก็ไม่แคล้วมีเรื่องให้กังวลใจ เนื่องจากผู้ป่วยหลายท่านต้องเผชิญ "ภาวะลองโควิด" (Long COVID) ซึ่งอาการหลงเหลือหลังติดเชื้อโควิด จะมีอาการต่อเนื่องมากกว่า 2 เดือนขึ้นไป และนานถึง 4-6 เดือน ขึ้นอยู่กับร่างกายของแต่ละบุคคล

แพทย์จีนเชน ปรีชาวณิชวงศ์ เผยผลกระทบหลังติดเชื้อโควิดในมุมมองแพทย์แผนจีนว่า หลังจากที่ผู้ป่วยโควิดรับเชื้อไวรัสเข้ามาภายในร่างกาย อวัยวะแรกที่จะโดนเชื้อตัวนี้ทำร้ายคือ ปอด โดยในทางแพทย์แผนจีน ปอดไม่ได้ทำหน้าที่เพียงหายใจและแลกเปลี่ยนออกซิเจนเพียงอย่างเดียวเท่านั้น เพราะปอดคือตัวควบคุม "ลมปราณ" ที่เปรียบเสมือนพลังงานชีวิต เป็นเชื้อเพลิงในการเคลื่อนไหว ทุกวันนี้ที่เราเดินเคลื่อนไหวได้เพราะเรามีลมปราณอยู่ คล้ายรถยนต์ที่ต้องเติมน้ำมันถึงจะเคลื่อนไหวได้

"ดังนั้นเมื่อโควิดเข้ามากระทบปอด ก็จะมีอาการด้านพลังงานให้เห็นออกมา เช่น ร่างกายอ่อนเพลีย รู้สึกเหมือนหายใจไม่เต็มอิ่ม เป็นต้น"

ทั้งนี้ แม้ว่าผู้ป่วยหายจากโควิดแล้ว แต่ลมปราณยังคงทำงานผิดปกติ หลังจากปอดโดนทำร้าย ส่งผลให้พลังงานการทำงานในร่างกายน้อยลง เกิดอาการอ่อนเพลีย ส่วนอาการไอและหายใจไม่อิ่ม เกิดจากเมื่อปอดโดนทำร้าย การเข้าออกของลมปราณทำงานผิดปกติ ถ้าเข้าไม่ค่อยได้ ก็จะทำให้หายใจได้ไม่เต็มปอด ถ้าออกเยอะเกินไป ก็จะรู้สึกไอ ซึ่งอาการทั้งหมด เกิดจากการที่เชื้อโควิดเข้ามาทำร้ายร่างกายเราผ่าน "ปอด"

แต่สำหรับบางราย จะมีอาการอื่นร่วม เช่น ปวดกล้ามเนื้อ, ปวดหัว, ครั่นเนื้อครั่นตัว ปวดตัวไม่หาย ฯลฯ แม้จะรักษาโควิดหายแล้วก็ตาม เนื่องจาก ลมปราณ มีอีกหน้าที่สำคัญคือเป็นภูมิต้านทาน เหมือนเคลือบอยู่ตรงผิวคอยกระจายตามร่างกาย เป็นภูมิต้านทานต่างๆ ดังนั้น ถ้าลมปราณในร่างกายอ่อนแอลง ภูมิต้านทานก็จะทำงานไม่ดี ทำให้พิษที่เข้ามากระจายอยู่ตามตัวจุดต่างๆ ได้ แม้ว่าพิษที่ปอดจะหายไปแล้ว แต่พิษที่กระจายอยู่ตามตัวอาจจะยังออกไปไม่หมด เมื่อเป็นเช่นนี้ การไหลเวียนของเลือดที่ไม่ดี บริเวณผิวข้อต่อก็เกิดอาการปวดขึ้น ทำให้รู้สึกยังมีอาการหลงเหลือหลังแม้หายป่วยโควิดแล้ว

อีกส่วนที่ได้รับผลกระทบคือ ระบบกระเพาะอาหาร ตั้งแต่ระบบการดูดซึมอาหาร, การย่อยอาหาร, การขับถ่าย โดยตามหลักแพทย์แผนจีนคือเป็นหน้าที่ของ "ม้าม" เมื่อลมปราณที่ม้ามไม่ดี จะทำให้มีอาการของลองโควิดได้ เช่น ถ่ายเหลวง่าย, ระบบย่อยอาหารไม่ดี เป็นต้น ฉะนั้นการที่ผู้ป่วยที่เพิ่งหายจากโควิดแล้วเป็นลองโควิด เนื่องจากลมปราณยังไม่ฟื้นนั้นเอง

"ม้าม" กับ "ปอด" สำคัญอย่างไรในมุมมองแพทย์แผนจีน

เมื่อมนุษย์คนหนึ่งเกิดมา จะได้รับพลังงานมาจาก 2 ส่วน ส่วนแรกมาจากก่อนกำเนิด คือได้มาจากพ่อแม่ ถ้าทุนมาดีพ่อแม่แข็งแรง ลูกก็จะแข็งแรงไม่ค่อยเจ็บป่วย ส่วนที่ 2 คือ กากอาหารที่กินเข้าไป และอากาศที่หายใจเข้าไป ซึ่งมาจาก ปอด กับ ม้าม ฉะนั้นสารจำเป็นสำคัญหลังจากที่เราเกิดคือมาจากปอดและม้าม ถ้าอวัยวะเหล่านี้ทำงานไม่ดี สารจำเป็นในร่างกายก็จะด้อยลง ส่งผลให้เราป่วยเป็นโรคต่างๆ ได้ง่าย

ผู้ป่วยเคยติดเชื้อโควิด อาจทำให้มีลูกยาก

ปัจจุบันพบว่าสาเหตุที่ทำให้คนมีลูกยาก ส่วนใหญ่มาจาก 4 ข้อ ซึ่งสาเหตุเกิดขึ้นได้จากทั้ง "ผู้หญิง" และ "ผู้ชาย" ดังนี้

1. รังไข่ คือคุณภาพไข่ไม่ค่อยดี หรือที่รังไข่มีโรค อาทิ ช็อกโกแลตซีสต์, PCOS ส่งผลให้คุณภาพไข่ไม่ดี

2. ท่อน้ำไข่ตัน ทำให้น้ำเชื้อและรังไข่ไม่สามารถเจอกันได้ ทำให้ไม่ท้อง

3. มดลูก คือเมื่อปฏิสนธิกันเสร็จ เตรียมมาฝังตัวที่มดลูก แต่มดลูกไม่พร้อม เช่น ผนังมดลูกบางเกินไป หรือในมดลูกมีก้อนหรือติ่งเนื้องอก ที่มาขัดขว้างตำแหน่งที่จะมาฝั่งตัวอ่อน ก็จะทำให้ตั้งครรภ์ได้ยาก

4. น้ำเชื้อฝ่ายผู้ชายไม่ดี ต้องหาสาเหตุและวินิจฉัยเป็นรายบุคคล

สำหรับผู้ชายที่ติดเชื้อโควิด อาการที่ต้องเผชิญคือ การมีไข้สูง โดยการมีไข้สูงส่งผลเสียต่อน้ำเชื้อ ถ้าร่างกายมีอุณหภูมิที่สูงขึ้นเพียง 39-40 องศาฯ ก็จะส่งผลให้น้ำเชื้อด้อยลง และก็ต้องใช้เวลาในการฟื้นฟูกลับมา ส่วน "ผู้หญิง" อาการลองโควิด เมื่อกระทบกับปอดและม้าม ทำให้สารจำเป็นไม่เพียงพอส่งผลต่อร่างกาย อาจจะมีอาการเลือดน้อยลง (แต่ไม่ใช่โลหิตจาง) ประจำเดือนมาน้อยลง หรือมาช้ากว่าเดิม ผนังมดลูกที่มีเลือดเป็นส่วนประกอบบางลง ตัวอ่อนเกาะไม่ค่อยดี สุดท้ายอาจส่งผลให้เกิดการ มีบุตรยาก

แต่ปัญหาทั้งหมด ต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยเป็นรายบุคคลถึงจะทราบ โดยแพทย์แผนปัจจุบันจะมีเครื่องมือที่ทันสมัยสามารถตรวจได้ ทำให้นำข้อมูลเหล่านั้นมาอ้างอิงได้ว่า สาเหตุของการมีบุตรยากอยู่ที่ขั้นตอนไหน อาทิ ผู้ป่วย PCOS ไข่ไม่ตกเรื้อรัง ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะมีน้ำหนักเกินมาตรฐาน แพทย์แผนจีนจะมองว่าลมปานที่ม้ามไม่เพียงพอ ทำให้เกิดลมชื้นซึ่งทำให้อ้วน เป็นสิ่งที่ไปอุดกลั้นทำให้ประจำเดือนไม่มาตามปกติ ฉะนั้นแนวทางการรักษาคือ จะให้ยาบำรุงม้ามเพื่อให้กลับมาทำงานปกติ ลดความชื้นลงเพื่อให้เลือดไหลเวียนสะดวก จากนั้นจะทำให้ประจำเดือนมา ไข่ตกปกติได้โดยไม่ต้องใช้ยากระตุ้นไข่ตก เมื่อรักษาอาการตรงนี้ได้ก็จะยิ่งส่งเสริมให้โอกาสตั้งครรภ์ได้สูงขึ้น

ตัวอย่างเคสผู้ป่วยหายโควิดอยากมีลูก

ปกติเวลารักษาผู้ป่วยลองโควิด หมอจะแนะนำเป็นยาสมุนไพรจีน เพราะต้องกินบำรุงข้างใน ที่สำคัญต้องดูอาการของแต่ละบุคคลว่าเหมาะสมอย่างไร ต้องให้คุณหมอวินิจฉัยเป็นรายบุคคล เพราะแต่ละคนมีอาการแตกต่างกัน จากนั้นเมื่อหายลองโควิดแล้วอยากจะมีลูก ก็จะมาเช็กสาเหตุของการมีลูกยากของคนไข้อีกที เพื่อทำการรักษา โดยสามารถทำร่วมกันได้ ซึ่งระยะเวลาของการรักษาแต่ละบุคคลจะไม่เท่ากัน บางราย 1-2 เดือนหายแล้ว มีลูกเลย แต่บางรายอาจต้องใช้เวลาครึ่งปีถึง 1 ปี ขึ้นอยู่กับปัจจัยที่ทำให้มีลูกยากของแต่ละคน

สำหรับวิธีการรักษาของแพทย์แผนจีน หลักๆ จะเป็นเรื่องของการทานสมุนไพรจีน การฝังเข็ม และที่สำคัญคือ การใช้ชีวิต เพราะการใช้ชีวิตที่ถูกต้องจะทำให้โอกาสสำเร็จสูงขึ้น เนื่องจากร่างกายของคนเราเสียสมดุลมาจากการใช้ชีวิตที่ผิด โดยหมอจะแนะนำว่า ถ้าสมมติคนไข้เป็นคนธาตุเย็น ก็จะไม่แนะนำให้ทานอาหารแบบไหน แต่ถ้ายังดื้อใช้ชีวิตแบบเดิม ไม่ทำตามคำแนะนำของหมอ ร่างกายก็จะเสียสมดุล เวลาปรับก็ต้องใช้เวลานาน ทำให้ยิ่งยากและยืดไปเรื่อยๆ

รวมทั้ง หมอจะใช้ยาสมุนไพรจีนเป็นหลัก และใช้การฝั่งเข็มเสริมการรักษา ซึ่งเคยมีงานวิจัยบ่งบอกว่า ถ้าใช้ทั้งยาสมุนไพรและการฝั่งเข็มเสริมกัน จากสถิติผลที่ได้มันจะดีที่สุด แต่การฝังเข็มไม่ใช่ว่าทำครั้งเดียวแล้วพอ ต้องใช้ความต่อเนื่อง แต่ไลฟ์สไตล์ของคนในยุคปัจจุบันถ้าให้เดินทางมาฝั่งเข็มอาทิตย์ละครั้ง อาจจะไม่สะดวก ฉะนั้นการทานยาจึงกลายเป็นสิ่งหลัก.



Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar