อนุมัติโทษ ขับรถเร็ว-ฝ่าไฟแดง ไม่จบที่ใบสั่ง แต่ไปจบที่ศาล ออกใบนัดเจอกันใน 3 วัน

กฎหมายจราจร

หลังจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ออกประกาศปรับเพิ่มบทลงโทษกฎหมายจราจรใหม่ สำหรับผู้ขับขี่รถยนต์ รถมอเตอร์ไซค์ หลายกรณีความผิดด้วยกัน ซึ่งจะมีผลบังคับใช้วันที่ 5 กันยายน นี้ ส่วนใหญ่เป็นข้อหาที่ผู้ขับขี่กระทำผิดบ่อย โดยเฉพาะในข้อหาเมาแล้วขับ หากพบทำผิดซ้ำจะได้รับโทษหนักกว่าเดิม นั้น

 

เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2565 น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีจราจร พ.ศ. .... ตามที่สำนักงานศาลยุติธรรมเสนอ เพื่อให้การพิจารณาคดีจราจรเป็นไปด้วยความสะดวกและรวดเร็วขึ้น โดยร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ มีสาระสำคัญ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ

กลุ่มที่ 1 ความผิดจราจรบางฐานที่กำหนดไว้เฉพาะ

        - ขับรถโดยไม่มีใบขับขี่

        - ขับรถในระหว่างใบขับขี่ถูกพักใช้ เพิกถอน หรือหมดอายุ

        - ไม่ปฏิบัติตามสัญญาณไฟจราจร

        - ขับรถด้วยความเร็วเกินกำหนด
        ร่าง พ.ร.บ. นี้ กำหนดห้ามไม่ให้พนักงานเจ้าหน้าที่เปรียบเทียบปรับหรือออกใบสั่งแก่ผู้ฝ่าฝืน แต่ให้ผู้นั้นไปพบพนักงานสอบสวน เพื่อให้พนักงานสอบสวนดำเนินการออกใบนัดให้ผู้นั้นไปศาลต่อไป

กลุ่มที่ 2 ความผิดอื่นที่สามารถเปรียบเทียบปรับได้ ตามกฎหมายต่าง ๆ

        - กฎหมายว่าด้วยจราจรทางบกกฎหมายว่าด้วยรถยนต์

        - กฎหมายว่าด้วยขนส่งทางบก

        - กฎหมายว่าด้วยทางหลวง

        - กฎหมายว่าด้วย การทางพิเศษแห่งประเทศไทย
        ทั้งนี้ ไม่รวมถึงกรณีที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่น หากผู้กระทำผิดไม่ยอมให้เปรียบเทียบปรับ หรือไม่ยอมจ่ายค่าปรับ ให้พนักงานสอบสวนดำเนินการออกใบนัดให้ผู้นั้นไปศาลต่อไป

กลุ่มที่ 3 ความผิดนอกจากกลุ่มที่ 1 และ 2 ที่มีความร้ายแรง

        - ความผิดฐานเมาแล้วขับ  
        กำหนดให้สอบสวนและดำเนินกระบวนพิจารณาคดีตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาหรือกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงแล้วแต่กรณี โดยศาลอาจกำหนดมาตรการลงโทษตาม พ.ร.บ. นี้เพิ่มเติมแก่ผู้กระทำความผิดได้

กฎหมายจราจร

ภาพจาก Nelson Antoine / Shutterstock.com

เงื่อนไขคดีความกับใบนัดศาล

        - คดีจราจรกลุ่มที่ 1 และ 2 ให้พนักงานสอบสวนส่งคู่ฉบับใบนัดให้ศาลภายใน 3 วันนับแต่วันที่ออกใบนัด
        - หากผู้ต้องหายอมชำระค่าปรับ ก็ให้คดีเป็นอันเลิกกัน และในวันที่มาศาล
        - หากจำเลยรับสารภาพ ศาลพิพากษาโดยไม่ต้องสืบพยานก็ได้
        - ถ้าจำเลยไม่ยอมให้การหรือให้การปฏิเสธ ให้ศาลใช้ดุลพินิจว่าหลักฐานเพียงพอหรือไม่ ถ้าเพียงพอให้ศาลพิพากษาคดีทันที ถ้าไม่เพียงพอให้นัดสืบพยานต่อไป
        - ศาลมีอำนาจใช้มาตรการลงโทษแก่จำเลยซึ่งมีความผิดนอกจากที่กำหนดไว้ในกฎหมายเรื่องนั้น ๆ ได้ เช่น ยึด พักใช้ หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ ให้ทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ ให้เข้ารับการศึกษาอบรมด้านการจราจร เป็นต้น
        อย่างไรก็ตาม รองโฆษกฯ กล่าวว่า ในลำดับต่อไปจะส่งร่าง พ.ร.บ. นี้ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ตรวจพิจารณาโดยให้รับความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอรัฐสภาต่อไป

ขอบคุณข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก โหนกระแส


Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar