กฎหมายจราจรใหม่ เริ่ม 5 ก.ย. 65 เพิ่มโทษปรับ-จำคุก ขับเร็วเกินปรับสูงสุด 4,000 บาท

เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2565 เป็นวันแรกของการบังคับใช้ พ.ร.บ. จราจรทางบก (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2565 หลัง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าวถูกประกาศบนเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ตั้งแต่วันที่ 7 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา โดยสาระสำคัญของ พ.ร.บ. จราจรทางบก (ฉบับที่ 13) คือ เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายและการจัดระเบียบการจราจรทางบกเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นประโยชน์แก่ความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อยและสวัสดิภาพของประชาชน และหากฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามกฎหมายจราจรทางบกฉบับใหม่ มีโทษหนัก ทั้งจำ ทั้งปรับซึ่งมากกว่ากฎหมายฉบับเดิมหลายเท่า

ตำรวจจราจรกำลังทำงาน

ตำรวจสอบสวนกลางเปิดเผยรายละเอียด กฎหมายจราจรฉบับใหม่ ทั้งส่วนของการพกใบอนุญาตขับรถ, ลักษณะรถ, พฤติกรรมการขับรถ พร้อมเพิ่มบทลงโทษข้อหาเมาแล้วขับ ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก ฉบับที่ 13 โดยมีรายละเอียด ดังนี้

กฎหมายจราจรใหม่ ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก ฉบับที่ 13 มีรายละเอียด ดังนี้

  1. เพิ่มโทษผู้ขับขี่ที่กระทำผิดซ้ำข้อหาเมาแล้วขับ

    • กระทำผิดครั้งแรก มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 5,000 – 20,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ
    • หากทำผิดซ้ำภายใน 2 ปี นับแต่วันที่กระทำความผิดครั้งแรก เพิ่มอัตราโทษ เป็นจำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับ 50,000 – 100,000 บาท และศาลจะลงโทษจำคุกและปรับด้วยเสมอ (ม.160 ตรี/1 และ 160 ตรี/3)
  2. เพิ่มอัตราโทษที่เป็นปัจจัยต่อการเกิดอุบัติเหตุ เป็นปัจจัยเสี่ยง ในการสูญเสียของผู้ขับขี่และผู้ใช้ทาง

    • 2.1 เพิ่มอัตราโทษปรับ เช่น
      • ขับรถเร็วเกินกำหนด ปรับไม่เกิน 4,000 บาท
      • ขับรถฝ่าฝืนสัญญาณไฟแดง ปรับไม่เกิน 4,000 บาท
      • ไม่หยุดรถให้คนข้ามทางม้าลาย ปรับไม่เกิน 4,000 บาท
      • ขับรถย้อนศร ปรับไม่เกิน 2,000 บาท
      • จอดรถในที่ห้ามจอด ปรับไม่เกิน 2,000 บาท
      • ไม่สวมหมวกนิรภัย ปรับไม่เกิน 2,000 บาท
      • ไม่รัดเข็มขัดนิรภัย ปรับไม่เกิน 2,000 บาท
    • 2.2 เพิ่มโทษผู้ขับขี่ที่ขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยในชีวิตหรือร่างกายของผู้อื่น
      • เพิ่มอัตราโทษเป็นจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับตั้งแต่ 5,000 – 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  3. กำหนดความผิดเกี่ยวกับการแข่งรถในทางเพิ่มเติมดังนี้

    • 3.1 ความผิดฐานพยายามแข่งรถ กำหนดเพิ่มเติมว่า ผู้ที่ร่วมกลุ่มหรือมั่วสุมในทางหรือสาธารณสถานใกล้ทาง ด้วยรถตั้งแต่ 5 คันขึ้นไป ถือว่า “พยายามแข่งรถในทาง” หากมีเงื่อนไขอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้
      • นัดหมายเพื่อแข่งรถกันมาก่อน หรือ
      • รถดัดแปลง /ปรับแต่ง มีสภาพไม่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือ
      • มีพฤติการณ์อย่างหนึ่งอย่างใดอันแสดงให้เห็นว่าจะทำการแข่งรถในทาง
        มีโทษ 2 ใน 3 ของความผิดฐานแข่งรถในทาง (การแข่งรถในทาง ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับตั้งแต่ 5,000 - 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ)
    • 3.2 ผู้จัด ผู้โฆษณา ประกาศ ชักชวน ให้มีการแข่งรถ
      • มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับตั้งแต่ 10,000 - 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
    • 3.3 ร้านรับแต่งรถ เมื่อรถนั้นถูกนำไปใช้แข่งรถในทาง
      • ต้องรับโทษในฐานะผู้สนับสนุน มีโทษ 2 ใน 3 ของความผิดฐานแข่งรถในทาง (การแข่งรถในทาง มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือ ปรับตั้งแต่ 5,000 - 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ)
  4. กำหนดเรื่องการรัดเข็มขัดนิรภัย

    • 4.1 รถที่ติดตั้งเข็มขัดนิรภัยได้ ผู้ขับขี่และผู้โดยสาร ต้องรัดเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่ง เช่น รถยนต์นั่งส่วนบุคคล รถตู้
    • 4.2 รถกระบะ ผู้ขับขี่และผู้โดยสาร ต้องรัดเข็มขัดนิรภัยในที่นั่งตอนหน้า กรณีเป็นรถกระบะสองตอนผู้โดยสารตอนหลัง ต้องรัดเข็มขัดนิรภัยด้วย
      หากฝ่าฝืนไม่รัดเข็มขัด ตามข้อ 4.1 และ 4.2 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท

สำหรับเรื่องที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กอายุไม่เกิน 6 ปีหรือคาร์ซีทนั้น ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติร่วมกับกรมการขนส่งทางบก สำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และภาคีเครือข่ายด้านความปลอดภัยทางถนนประชุมเพื่อกำหนดมาตรฐาน ลดอัตราภาษีที่นั่งนิรภัยเด็ก และวิธีการป้องกันอันตรายในกรณีที่ไม่สามารถใช้ที่นั่งนิรภัยได้ ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 4 ธันวาคมนี้ ก่อนจะประกาศเรื่องการใช้ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กอย่างเป็นทางการต่อไป

เด็กชายตัวเล็กในที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กในท้ายรถ

อย่างไรก็ดี แม้กฎหมายจราจรใหม่ 2565 มีผลบังคับใช้ แต่สำนักงานตำรวจแห่งชาติชี้แจงว่า ช่วง 3 เดือนแรก ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจะยังใช้เกณฑ์ ค่าปรับใบสั่งจราจร ตามกฎหมายเดิม พร้อมเร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรู้ และเมื่อพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวจะมีการบังคับใช้กฎหมายจราจรใหม่ 2565 อย่างจริงจัง 

อ้างอิงข้อมูลจาก : พ.ร.บ. จราจรทางบก (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2565

 


Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar