ทำความเข้าใจ "โรคฝีดาษลิง"

ภายหลังสถานการณ์การแพร่ระะบาดโควิด-19 อยู่ในเกณฑ์ที่ดีขึ้น จำนวนผู้ติดเชื้อลดลง และมาตรการภายในประเทศผ่อนปรนมากขึ้น จึงมีมติคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เห็นชอบยกเลิกร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง เขตติดโรคนอกราชอาณาจักร และพิจารณา โรคฝีดาษวานรให้เป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง ลำดับที่ 56 ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 โดยกรมควบคุมโรคได้ตั้งศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข (EOC) กรณีโรคฝีดาษลิง และเตรียมความพร้อมเสริมมาตรการคุมเข้ม ทั้งที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศที่สนามบินนานาชาติ และสั่งการโรงพยาบาลในสังกัดรัฐและเอกชน เตรียมพร้อมเฝ้าระวัง สังเกตอาการกลุ่มเสี่ยง และส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยันการติดเชื้อฝีดาษลิง

ทำความเข้าใจกันก่อน กับโรคฝีดาษลิง

"โรคฝีดาษลิง" หรือ ฝีดาษวานร เกิดจากเชื้อไวรัสที่อยู่ในสัตว์ตระกูลฟันแทะบนทวีปแอฟริกา โดยเชื้อไวรัสแพร่เชื้อไปยังสัตว์อื่น และสามารถแพร่จากสัตว์ไปสู่คนได้ สาเหตุของการติดเชื้อมักพบได้ในพื้นที่ห่างไกลในประเทศทางตอนกลางและตะวันตกของทวีปแอฟริกา ใกล้บริเวณที่เป็นป่าดิบชื้น ซึ่งหากไม่ได้สัมผัสใกล้ชิดนับว่ามีความเสี่ยงในการติดเชื้อต่ำ ดังนั้นจึงควรเฝ้าระวังอย่างในประเทศไทยพื้นที่ที่มีความเสี่ยง เช่น ลิงเขาสามมุก จ.ชลบุรี หรือลิงในพื้นที่ท่องเที่ยว การนำสัตว์จำพวกฟันแทะ สัตว์ป่าเข้ามาจึงควรมีการตรวจสอบที่มาที่ไป ทั้งนี้ ฝีดาษลิงเป็นไวรัสคนละตัวกับโรคอีสุกอีใสและฝีดาษคน ตุ่มที่ขึ้นบนผิวหนังจะมีลักษณะต่างกันเกิดจากไวรัสคนละกลุ่มจะเป็นน้ำใสธรรมดา

ติดต่ออย่างไร รุนแรงหรือไม่?

โรคฝีดาษลิงมีโอกาสน้อยในการแพร่จากคนสู่คนผ่านทางเดินหายใจ แต่สามารถติดต่อได้จากการสัมผัสใกล้ชิด โดยผ่านการสัมผัสทางผิวหนังกับผู้ติดเชื้อโดยตรง หรือสัมผัสวัตถุที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัสชนิดนี้
อาการของโรคไม่ได้รุนแรงขั้นไข้ทรพิษ ส่วนใหญ่สามารถหายได้เอง สำหรับโรคฝีดาษลิงโดยอัตราการเสียชีวิตจากโรคนี้อยู่ที่ 1-10% ซึ่งจัดว่าต่ำกว่าโรคไข้ทรพิษมาก

อาการเมื่อได้รับเชื้อ
- หลังได้รับเชื้อแล้วประมาณ 7-14 วัน เริ่มจากมีไข้ อ่อนเพลีย ปวดหัว ปวดเมื่อยตามร่างกาย
- หลังจากมีไข้ประมาณ 1-3 วัน และมีตุ่มเล็ก ๆ คล้ายผื่นขึ้นตามตัว ซึ่งตุ่มเหล่านี้จะอักเสบและแห้งไปเองใน 2 – 4 สัปดาห์

ฝีดาษลิงเป็นแล้วหายได้เองไหม
เมื่อเป็นแล้วสามารถหายจากโรคเองได้ ไม่ร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิต โดยใช้ระยะเวลาประมาณ 2 – 4 สัปดาห์จึงหายจากโรค และมียาต้านไวรัสในกลุ่มของฝีดาษคนและฝีดาษลิงที่สามารถรักษาโรคได้

มีวัคซีนป้องกันฝีดาษลิงหรือไม่ แล้วการปลูกฝีในอดีตช่วยป้องกันฝีดาษลิงได้อยู่หรือไม่
วัคซีนไข้ทรพิษสามารถป้องกันได้ 85% โดยผู้สูงวัยที่เคยฉีดวัคซีนไข้ทรพิษมาก่อนจะยังคงมีภูมิคุ้มกันป้องกันฝีดาษลิงได้ ยกเว้นผู้ที่เกิดหลังปี พ.ศ. 2523 เป็นปีที่ยกเลิกการฉีดวัคซีนป้องกันไข้ทรพิษหรือการปลูกฝีไปแล้ว

วิธีการป้องกันโรคฝีดาษลิง
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสัตว์ป่วย สัตว์ที่เป็นพาหะโดยเฉพาะลิง และสัตว์ฟันแทะ
- หมั่นล้างมือด้วยสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์บ่อยๆ  โดยเฉพาะหลังสัมผัสสัตว์ หรือสิ่งของสาธารณะ
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารคัดหลั่ง บาดแผล เลือด น้ำเหลืองของสัตว์
- ใส่หน้ากากอนามัย เมื่อต้องเดินทางไปยังสถานที่เสี่ยงมีการแพร่ระบาด
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารคัดหลั่ง แผล ตุ่มหนอง หรือตุ่มน้ำใส จากผู้มีประวัติเสี่ยง หรือสงสัยว่าติดเชื้อ กรณีที่สัมผัสเชื้อไปแล้ว ควรฉีดวัคซีนป้องกันในกรณีที่ยังไม่เกิน 14 วัน

ในปัจจุบันยังไม่เคยมีรายงานการระบาดของคนไทยในพื้นที่มาก่อน จากการระบาดล่าสุดในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาพบผู้ป่วยฝีดาษลิง 1 ราย เป็นผู้โดยสารต่อเครื่องที่ไทยก่อนไปออสเตรเลีย โดยยืนยันเป็นผู้ป่วยโรคฝีดาษลิง ซึ่งมีผู้สัมผัสใกล้ชิด 12 คน เป็นผู้โดยสารและลูกเรือบนเครื่องบิน อยู่ระหว่างติดตามอาการ ยังไม่มีอาการป่วย

จากการเดินทางข้ามประเทศที่ผ่อนปรนมาตรการมากขึ้น เพื่อความปลอดภัยเลี่ยงการติดเชื้อโดยเฉพาะผู้เดินทางไปต่างประเทศ ควรระมัดระวังโอกาสในการติดเชื้อ หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์พาหะ และหมั่นทำความสะอาดล้างมือ แยกของใช้ส่วนตัว ไม่นำมือสัมผัสใบหน้า และคอยติดตามข้อมูลข่าวสาร เพื่อไม่ให้เกิดความตระหนกและได้รับแนวทางการป้องกันที่ถูกต้อง.


Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar