ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมการประสานงานอาเซียน ด้านวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย ครั้งที่ 15 วันที่ 22 – 26 พ.ค.นี้ วาง 5 ยุทธศาสตร์หลักส่งเสริม SMEs

ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมการประสานงานอาเซียน ด้านวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย ครั้งที่ 15 วันที่ 22 – 26 พ.ค.นี้ วาง 5 ยุทธศาสตร์หลักส่งเสริม SMEs

นางสาววิมลกานต์ โกสุมาศ รองผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทย เป็นประธานในการประชุมการประชุมคณะกรรมการประสานงานอาเซียนด้านวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย ครั้งที่ 15 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง(ACCMSME) ระหว่างวันที่ 22 – 26 พฤษภาคม 2566 โรงแรมอโนมา แกรนด์ กรุงเทพฯ โดยมีสมาชิกจากหน่วยงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม จาก 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน, สภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ รวมทั้งประเทศคู่เจรจา ได้แก่ ญี่ปุ่น เยอรมันนี สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ และสหราชอาณาจักร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรับทราบความคืบหน้าและให้ความเห็นต่อการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ภายใต้แผนปฏิบัติการเชิงยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของอาเซียนปี 2559-2568 ซึ่งประกอบด้วย 5 เป้ายุทธศาสตร์ คือ 1) การส่งเสริมผลิตภาพการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม 2) การส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งทุน 3) การสนับสนุนการเข้าสู่ตลาด โดยการเน้นการผลิตเพื่อส่งออก และเชื่อมต่อกับห่วงโซ่อุปทานโลก 4) การปรับปรุงนโยบายและกฏระเบียบที่เกี่ยวข้องโดยเน้นให้หน่วยภาครัฐที่เกี่ยวกับ SMEs มีการประสานงานและทำงานอย่างบูรณาการ รวมทั้งลดขั้นตอนกฎระเบียบ และ 5) การส่งเสริมโอกาสของสตรีและเยาวชนในการพัฒนาผู้ประกอบการและทรัพยากรมนุษย์

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นการส่งเสริมเอสเอ็มอีที่ประเทศคู่เจรจาต่างให้ความสนใจหลากหลายหัวข้อที่ได้รับความสนใจและมุ่งมั่นผลักดันจากหลายประเทศ อาทิ การส่งเสริมผู้ประกอบการสตรี การเพิ่มขีดความสามารถของ SME ในอาเซียนด้วยดิจิทัล การส่งเสริมการเข้าสู่สากลของ SME ในอาเซียน การส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของ SME ในอาเซียน การดำเนินการอย่างยั่งยืนในระยะยาวของเว็บไซต์ www.aseanaccess.com ซึ่งเป็นเว็บไซต์กลางของ SMEs ทั้งภูมิภาคอาเซียน โดยปัจจุบันมีผู้เข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์กว่า 50,000 ราย ยังประโยชน์ให้กับผู้ส่งออกและผู้นำเข้า ไม่ว่าจะเป็นผู้ให้บริการที่มีประสบการณ์มาก่อน หรือผู้ที่กำลังจะเข้าสู่การทำธุรกิจระหว่างประเทศ อีกทั้งยังช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียน เพิ่มอัตราการจ้างงาน เพิ่มโอกาสในการแข่งขันของอาเซียนในตลาดโลก และลดอุปสรรคทางด้านการค้าการตลาดไปยังต่างประเทศ อันจะนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจภายในประเทศสมาชิกอาเซียน และยกระดับการทำธุรกิจให้เติบโตและขยายตัวในอนาคตได้อย่างไร้พรมแดนและไร้ขีดจำกัด


image รูปภาพ

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar