ประโยชน์ของไทยในการเป็นเจ้าภาพเอเปค

การเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปคของไทยในปี 2565 มีพลวัตและความท้าทาย

แตกต่างจากเมื่อครั้งที่ไทยเป็นเจ้าภาพฯ ในปี 2546 เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในสภาวการณ์โควิด-19 ที่เอเปคกำลังปรับตัวเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและเตรียมพร้อมรับมือความท้าทายใหม่ ๆ ไทยจึงให้ความสำคัญกับการปรับตัวและฟื้นฟูเศรษฐกิจ ในยุคหลังโควิด-19 อย่างครอบคลุม สมดุล และยั่งยืน โดยกำหนดหัวข้อหลักคือ Open. Connect. Balance. หรือ “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” เพื่อเปิดกว้างสู่ทุกโอกาสด้านการค้าและการลงทุน การส่งเสริมการรวมตัวทางเศรษฐกิจในภูมิภาคผ่านมุมมองใหม่ที่ได้เรียนรู้จากสถานการณ์โควิด-19 เพื่อสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้แก่ทุกภาคส่วนในสังคม เชื่อมโยงในทุกมิติเพื่อฟื้นฟูการเดินทางระหว่างกันที่สะดวกและปลอดภัย รวมทั้งเพิ่มความเชื่อมโยงทางดิจิทัล และส่งเสริมการเจริญเติบโตที่เน้นสร้างสมดุลในทุกด้านมากกว่าสร้างกำไร ผ่านการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม การสร้างความมั่นคงทางอาหารและการเกษตรเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน ทั้งนี้ ไทยได้นำโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy Model หรือ BCG) มาเป็นแนวคิดหลักเพื่อขับเคลื่อนประเด็นที่จะผลักดันการเป็นเจ้าภาพเอเปคในครั้งนี้

การเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยในครั้งนี้ เป็นโอกาสสำคัญที่ไทยจะส่งเสริมนโยบายและทิศทางการพัฒนาที่จะเป็นประโยชน์ต่อทั้งไทยและภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในหลายมิติ โดยไทยจะได้ประโยชน์จากการฟื้นฟูเศรษฐกิจในยุคหลังโควิด-19 ให้เติบโตอย่างยั่งยืน ได้ยกระดับมาตรฐานทางเศรษฐกิจให้เป็นสากล เสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับภาครัฐและภาคเอกชนผ่านการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์จากเขตเศรษฐกิจอื่น ๆ รวมถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยี นอกจากนี้ การเป็นเจ้าภาพการประชุมของไทยท่ามกลางบรรยากาศการฟื้นตัวจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ โดยเฉพาะภาคการเดินทางและท่องเที่ยว เป็นการฟื้นฟูการเดินทางและทำธุรกิจแบบพบหน้า และยังเป็นโอกาสให้ไทยได้แสดงความพร้อมว่าไทยสามารถปรับตัวและอยู่ร่วมกับสถานการณ์โควิดได้โดยยังสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปได้พร้อมกัน

ประเด็นที่ไทยมุ่งผลักดันให้เป็นรูปธรรมและเป็นผลลัพธ์ในการเป็นเจ้าภาพการประชุมครั้งนี้ ได้แก่

1. การส่งเสริมการค้าการลงทุนเสรีและการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ
ในภูมิภาค ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของเอเปค ผ่านการขับเคลื่อนการเจรจาเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (Free Trade Area of Asia-Pacific: FTAAP) ในบริบทของการเจริญเติบโตหลังโควิด-19 ที่จะต้องยั่งยืนและสมดุล และเป็นประโยชน์ต่อทุกภาคส่วน

2. ส่งเสริมการเดินทางที่สะดวกและปลอดภัย ผ่านการจัดตั้งกลไก APEC Safe Passage Taskforce
เพื่อหารือแนวทางที่ส่งเสริมการเดินทางที่สะดวกและปลอดภัย อาทิ การอำนวยความสะดวกอาชีพสำคัญ เช่น ลูกเรือ การส่งเสริมการใช้ Public Key Infrastructure ในการแชร์ข้อมูลด้านสุขภาพในภูมิภาค และการขยายคุณสมบัติของบัตรเดินทางสำหรับนักธุรกิจเอเปค (APEC Business Travel Card: ABTC) ให้ครอบคลุมผู้เดินทางกว้างขึ้น

3. การส่งเสริมการเจริญเติบโตที่ยั่งยืนและครอบคลุมในเอเปค ด้วยการจัดทำเอกสารผลลัพธ์ระดับผู้นำเพื่อเร่งการพัฒนาตามแผนงานของเอเปคไปสู่การเติบโตอย่างเข้มแข็ง ยืดหยุ่น ยั่งยืน ครอบคลุม และสมดุลในยุคหลัง โควิด-19 ตามแนวคิด BCG Economy

 

สาขาความร่วมมือที่ไทยให้ความสำคัญในปี 2565 ประกอบด้วย

1. ความร่วมมือด้านการค้าการลงทุน
ไทยจะผลักดันการส่งเสริมศักยภาพของผู้ประกอบการ MSMEs ตามแนวคิดเศรษฐกิจ BCG เพื่อขยายโอกาสทางธุรกิจผ่านการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ และการส่งเสริมการหารือเชิงนโยบายการค้าระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชนเพื่อแลกเปลี่ยนแนวคิดและข้อเสนอแนะในการขับเคลื่อนการจัดทำ FTAAP หลังยุคโควิด-19 รวมถึงการสานต่อการดำเนินงานตามปฏิญญาเรื่องการอำนวยความสะดวกการเคลื่อนย้ายสินค้าที่มีความจำเป็นปี พ.ศ. 2563 (Declaration on Facilitating the Movement of Essential Goods) แถลงการณ์ห่วงโซ่อุปทานวัคซีนโควิด-๑๙ (Statement on COVID-19 Vaccine Supply Chains)และแถลงการณ์การบริการเพื่อสนับสนุนการเคลื่อนย้ายสินค้าที่มีความจำเป็น (Statement on Services to Support the Movement of Essential Goods) 
ทั้งนี้ ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปค (APEC Ministers Responsible for Trade Meeting) ระหว่างวันที่ 21-22 พฤษภาคม 2565

2. ความร่วมมือด้านการคลัง
ไทยจะส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Finance) เพื่อให้ สอดรับกับการผลักดัน BCG Economy ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติ และภารกิจของรัฐบาลในการจัดหาแหล่งเงินทุนสำหรับทุกภาคส่วนให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างเหมาะสมและเพียงพอ โดยเฉพาะการจัดหาแหล่งเงินทุนผ่านตลาดทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศนอกจากนี้ ยังส่งเสริมการเป็นสังคมดิจิทัล (Digitalization for Digital Economy) เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยนำเทคโนโลยีมาเป็นเครื่องมือสำคัญในการดำเนินนโยบายในหลาย ๆ ด้าน โดยเฉพาะการดำเนินมาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐ การเชื่อมโยงการชำระเงิน ในภาคการเงิน การระดมทุนและการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการในตลาดทุน เพื่อมุ่งสู่การเป็นสังคมเศรษฐกิจดิจิทัลร่วมกันในภูมิภาค

ทั้งนี้ ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับปลัดกระทรวงการคลังและรองผู้ว่าการธนาคารกลางเอเปค (APEC Finance and  Central Bank Deputies’ Meeting: APEC FCBDM) ระหว่างวันที่ 16-17 มีนาคม 2565 การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการคลังเอเปค (APEC Senior Finance Officials’ Meeting: APEC SFOM) ระหว่างวันที่ 23-24 มิถุนายน 2565 และการประชุมระดับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (APEC Finance Ministers’ Meeting: APEC FMM) ระหว่างวันที่ 19-21 ตุลาคม 2565

3. ความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว ไทยจะนำเสนอข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อฟื้นฟูการท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเปคให้มีอนาคตที่ดีกว่าเดิม: การท่องเที่ยวฟื้นสร้างอย่างยั่งยืน (APEC Policy Recommendations on “Tourism of the Future: Regenerative Tourism”) โดยแนวคิดนี้สืบเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ ซึ่งส่งผลกระทบรุนแรงต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทั่วโลกทั้งระบบอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทำให้เกิดการท้าทายแนวคิดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (Sustainable Tourism) ซึ่งเป็นแนวคิดกระแสหลักด้านการท่องเที่ยวทั่วโลกมานานหลายทศวรรษ

ทั้งนี้ ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีท่องเที่ยวเอเปค (APEC Tourism Ministerial Meeting) ระหว่างวันที่ 14-20 สิงหาคม 2565

4. ความร่วมมือด้านการเกษตร
ไทยจะผลักดันแนวคิดเศรษฐกิจ BCG ควบคู่กับนโยบาย “3S” ได้แก่ Safety ความปลอดภัยของอาหาร Security ความมั่นคงของภาคการเกษตรและอาหาร และ Sustainability ความยั่งยืนของภาคการเกษตร เพื่อส่งเสริมความมั่นคงอาหารในภูมิภาคเอเปค นอกจากนี้ ไทยในฐานะประธานหุ้นส่วนเชิงนโยบายความมั่นคงอาหาร เอเปค (APEC Policy Partnership on Food Security: PPFS) จะมีบทบาทสำคัญในการจัดทำแผนปฏิบัติการของแผนงานความมั่นคงอาหารเอเปคมุ่งสู่ปี ค.ศ. 2030 (APEC Food Security Roadmap Towards 2030 Implementation Plan) เพื่อให้เขตเศรษฐกิจสมาชิกใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงานด้าความมั่นคงอาหารในภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิกร่วมกันต่อไป

ทั้งนี้ ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีความมั่นคงอาหารเอเปค (APEC Ministerial Meeting on Food Security) ในช่วงการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปค ครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 7-21 สิงหาคม 2565 โดยการประชุมดังกล่าวจะเป็นการพบกันของรัฐมนตรีที่รับผิดชอบด้านการเกษตรและอาหารของเขตเศรษฐกิจเอเปค เพื่อหารือประเด็นสำคัญในการเสริมสร้างความมั่นคงอาหารในภูมิภาคอย่างยั่งยืน  

5. ความร่วมมือด้านป่าไม้
ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีเอเปคด้านป่าไม้ ครั้งที่ 5 (5th APEC Meeting of Ministers Responsible for Forestry)ช่วงเดือนสิงหาคม 2565 เพื่อเป็นเวทีให้รัฐมนตรีที่รับผิดชอบด้านป่าไม้ของเขตเศรษฐกิจเอเปคได้ร่วมหารือและกำหนดทิศทางการส่งเสริมการดำเนินงานด้านป่าไม้ในภูมิภาค โดยไทยจะผลักดันการใช้นวัตกรรมเพื่อบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้ และเปลี่ยนข้อได้เปรียบให้เป็นความสามารถในการแข่งขัน กระจายรายได้สู่ชุมชนที่พึ่งพาทรัพยากรป่าไม้ ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างชุมชนเข้มแข็งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนตามหลักเศรษฐกิจ BCG

นอกจากนี้ จะมีการประชุมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านการต่อต้านการค้าไม้ผิดกฎหมายและการค้าอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง (Experts Group on Illegal Logging and Associated Trade) โดยไทยจะใช้โอกาสในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปค ผลักดันการจัดทำเครื่องมือที่เหมาะสมในการส่งเสริมการค้าไม้ที่ถูกกฎหมาย และต่อต้านการค้าไม้ผิดกฎหมายและการค้าที่เกี่ยวข้อง เช่น การรับรอง (Certificate) การตรวจสอบความถูกต้องตามกฎหมายของไม้ (Timber Legality Assurance System) ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมป่าไม้ เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจและการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน เป็นต้น

6. ความร่วมมือด้านกิจการสตรี
ไทยจะให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างพลังทางเศรษฐกิจของสตรีในยุคหลังโควิด-19 และยุคดิจิทัล โดยจะนำแนวคิดเศรษฐกิจ BCG มาปรับใช้ เพื่อสร้างการเจริญเติบโตที่สมดุลและครอบคลุม มุ่งเน้นการดำเนินงานด้านสตรีที่ยึดโยงกับแนวทางขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการลา เซเรนาเพื่อสตรีและการเจริญเติบโตที่ครอบคลุม (La Serena Roadmap for Women and Inclusive Growth) (เชื่อมโยงไปยังลิงค์ https://www.apec.org/Meeting-Papers/Annual-Ministerial-Meetings/2019/2019_AMM/Annex-A ) นอกจากนี้ ยังมุ่งผลักดันการสร้างเครือข่ายสตรีผู้ประกอบการ BCG ไทยไปขยายผลในเอเปค เพื่อส่งเสริมบทบาท และสร้างโอกาสให้กับสตรีผู้ประกอบการ BCG ของไทยในระดับภูมิภาค

ทั้งนี้ ไทยจะจัดประชุมเอเปคด้านสตรีและเศรษฐกิจ (APEC Women and the Economy Forum: WEF) และ (High-Level Policy Dialogue on Women and the Economy: HLPDWE) (เชื่อมโยงไปยังลิงก์รายละเอียดการประชุมนี้ในหน้า Notional Calendar) ในช่วงเดือนกันยายน 2565 ซึ่งเป็นกลไกในการเสริมพลังสตรีและเพิ่มการมีส่วนร่วมของสตรีในทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของภูมิภาคเอเปค ช่วยลดความเหลื่อมล้ำและความยากจนยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดี และส่งเสริมการลงทุนด้านโภชนาการ สุขภาพ และการศึกษาของเด็กมากยิ่งขึ้น

7. ความร่วมมือด้านการส่งเสริม MSMEs
ไทยจะจัดกิจกรรมภายใต้โครงการ “Ready for the ‘Next Normal’: How MSMEs should adapt to an evolving market landscape” เพื่อหารือข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับตลาดสำหรับ MSMEs ในยุคหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ผู้บริโภคมีพฤติกรรมเปลี่ยนไป โดยจะแสวงหากลไกสนับสนุน MSMEs ให้ฟื้นตัวได้อย่างยั่งยืนและครอบคลุม นอกจากนี้ ไทยได้จัดกิจกรรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการหัวข้อ “การยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับ MSMEs เพื่อภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ที่ครอบคลุมและยั่งยืน: การลดขยะภาคอาหารในห่วงโซ่อุปทาน” เมื่อวันที่ 13-14 มกราคม 2565 ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ไทยขับเคลื่อนภายใต้ ยุทธศาสตร์เอเปคว่าด้วยวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ยั่งยืน และมีนวัตกรรม (APEC Strategy for Green, Sustainable and Innovative MSMEs) และสอดรับกับแนวคิดเศรษฐกิจ BCG ซึ่งเป็นแนวคิดสำคัญในการขับเคลื่อนเอเปค 2565 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ 

ทั้งนี้ ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีเอเปควิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (APEC SME Ministerial Meeting) ระหว่างวันที่ 5-10 กันยายน 2565


Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar