บุคคลสำคัญของไทย ที่ได้รับรางวัลจากยูเนสโก้

ยูเนสโก้ (UNESCO Prize) เป็นรางวัลที่ได้รับการยอมรับกันทั่วโลก เพราะมีความชัดเจนในกฎกติกาและกระบวนการพิจารณาตัดสินรางวัล มอบให้ทั้งตัวบุคคลหรือองค์กร ซึ่งกลุ่มสาขารางวัลใหญ่ 5 สาขา คือ

  • การศึกษา (Education)
  • วิทยาศาสตร์ธรรมชาติ (Natural Science)
  • สังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ (Social and Human Sciences)
  • วัฒนธรรม (Culture)
  • การสื่อสารและข้อมูลข่าวสาร (Communication and Information)

ส่วนประเทศไทยนั้น ได้เข้าเป็นสมาชิกองค์การยูเนสโก้ เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2492 โดยที่ผ่านมา บุคคลสำคัญของไทยหลายต่อหลายคน ได้รับการยกย่องจาก UNESCO ให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก ซึ่งมีดังต่อไปนี้

1. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
วันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2505 องค์การยูเนสโก (UNESCO) ได้ยกย่องให้ “กรมพระยาดำรงราชานุภาพ” เป็นบุคคลสำคัญของโลก ซึ่งนับเป็นคนไทยคนแรก ที่ยูเนสโกยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก และทรงได้รับการถวายพระนามว่า "บิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย" เนื่องจากพระองค์ได้ทรงวางรากฐานและรังสรรค์ผลงานด้านการพัฒนาประเทศหลากหลายด้าน รวมถึงผลงานนิพนธ์ที่กลายมาเป็นมรดกทางปัญญาของคนไทยจวบจนปัจจุบัน

ข้อมูลเพิ่มเติม สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

2. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์
เมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2506  เนื่องในวาระฉลองวันประสูติครบ 100  ปี องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ  (UNESCO)  ได้ประกาศยกย่องพระเกียรติคุณให้สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงเป็นบุคคลสำคัญของโลก  

ข้อมูลเพิ่มเติม สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์

3. พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 2 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ 
ทรงได้รับการยกย่องจากยูเนสโก เป็นบุคคลสำคัญของโลก สาขาวรรณกรรม เนื่องในโอกาสฉลองวันพระราชสมภพครบ 200 พรรษา เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2511

4. พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระศรีพัชริน ทราบรมราชินีนาถ
ทรงได้รับการถวายพระราชสมัญญา สมเด็จพระมหาธีราชเจ้า ยูเนสโกยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกด้านวัฒนธรรม เนื่องในโอกาสฉลองวันพระราชสมภพครบ 100 พรรษาเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2524

5. สุนทรภู่ กวีเอกครั้งรัชกาลที่ 2

ยูเนสโกได้ประกาศยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกด้านวรรณกรรม เนื่องในโอกาสฉลองวันเกิดครบ 200 ปี เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2529 นับเป็นสามัญชนคนแรกที่ได้รับเกียรตินี้

6. ศาสตราจารย์ พระยาอนุมานราชธน (ยง เสถียรโกเศศ) นักปราชญ์คนที่ 6 ของไทย และนักวัฒนธรรมสำคัญของไทย
ยูเนสโกประกาศยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก ผู้มีผลงานดีเด่นด้านวัฒนธรรมระดับโลก เนื่องในโอกาสครบรอบ ชาตกาล 100 ปี เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2531

7. สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
ทรงเป็นพระสงฆ์รูปแรกที่ได้รับการถวายพระเกียรติจากยูเนสโก ประกาศให้เป็นบุคคลผู้มีผลงานดีเด่นด้านวัฒนธรรมระดับโลก เนื่องในวาระฉลองวันประสูติครบ 200 ปีเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2533

8. พลตรีพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์
เป็นคนไทยที่ยูเนสโกยกย่องให้เป็นผู้มีผลงานดีเด่นด้านวัฒนธรรมระดับโลก เนื่องในวาระฉลองวันประสูติครบ 100 ปี เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2534

9.สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก
ทรงได้รับการถวายพระสมัญญา ?พระบิดาแห่งการแพทย์ไทย? เมื่อปี 2535 ยูเนสโกได้ประกาศยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์การแพทย์ การพยาบาลและการสาธารณสุข เนื่องในวาระฉลองครบรอบ 100 ปีวันคล้ายวันพระราชสมภพ เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2535

10. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช
ทรงได้รับประกาศยกย่องพระองค์ว่า ทรงสร้างประวัติศาสตร์แห่งศตวรรษ ในด้านวัฒนธรรมและการศึกษาด้วยหลักปรัชญาแห่งความพอเพียง เนื่องในโอกาสที่ ครบ 50 ปี และยูเนสโก้ร่วมฉลองในวาระมงคลดังกล่าว เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2539

11. สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
ทรงได้รับการยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ประยุกต์ : การพัฒนามนุษย์ สังคมและสิ่งแวดล้อม เนื่องในวาระฉลองวันพระราชสมภพครบ 100 พรรษา เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2543

12.ศาสตราจารย์ ดร. ปรีดี พนมยงค์ หรือหลวงประดิษฐ์มนูธรรม
ผู้นำขบวนการเสรีไทย นายกรัฐมนตรีคนที่ 7 ของไทย ได้รับการยกย่องจากยูเนสโกประกาศให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกด้านส่งเสริมสันติภาพ เสรีภาพ และประชาธิปไตย เนื่องในโอกาสฉลองชาตกาลครบ 100 ปี เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2543

13.พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5
ทรงได้รับการถวายพระราชสมัญญา "พระปิยมหาราช" ทรงได้รับการยกย่องเป็นบุคคลสำคัญของโลกด้านการศึกษา วัฒนธรรม สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ การพัฒนาสังคม เนื่องในโอกาสฉลองวันพระราชสมภพครบ 150 พรรษา เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2546

14. หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล
บุคคลสำคัญของโลกด้านการศึกษา วัฒนธรรม (วรรณคดี) และการสื่อสาร เนื่องในโอกาสฉลองวันเกิดครบ 100 ปี เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2546

15.พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยและสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี
ทรงได้รับการถวายพระราชสมัญญาว่า "พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย" ทรงได้รับการยกย่องจากยูเนสโกให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ วัฒนธรรม สังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์และสื่อสารมวลชน เนื่องในโอกาสฉลองวันพระราชสมภพ 200 พรรษา ในวันที่ 18 ตุลาคม 2547

16.นายกุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือนามปากกาว่า "ศรีบูรพา" นักเขียน นักประพันธ์ นักหนังสือพิมพ์มีชื่อของไทย
ได้รับการยกย่องจากยูเนสโกให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกด้านนักเขียนและนัก หนังสือพิมพ์ เนื่องในโอกาสครบรอบชาตกาล 100 ปี เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2549

17.ท่านพุทธทาสภิกขุ (พระธรรมโกศาจารย์)
ได้รับการยกย่องจากยูเนสโก ให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก ด้านการศึกษา ศาสนา วัฒนธรรม และสันติภาพ เนื่องในโอกาสครบรอบชาตกาล 100 ปี เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2549

18.พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท
ทรงเป็นคนไทยที่ได้รับการยกย่องจากยุเนสโกให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกด้าน วรรณกรรม การศึกษา การแพทย์ การสาธารณสุข และการต่างประเทศ เนื่องในวาระฉลอง 200 ปีวันคล้ายวันประสูติ เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2551

19.นายเอื้อ สุนทรสนาน
นักร้อง นักประพันธ์เพลงและหัวหน้าวงดนตรีสุนทราภรณ์ ได้รับการยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก สาขาวัฒนธรรม ดนตรีไทยสากล เนื่องในโอกาสครบรอบชาตกาล 100 ปี เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2553

20.พลตรี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช
นักปราชญ์ นักเขียน นักการเมือง ศิลปินแห่งชาติ และ นายกรัฐมนตรีคนที่ 13 ของไทย ได้รับการยกย่องจากยูเนสโกให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกด้านการศึกษา วัฒนธรรม สังคมศาสตร์และสื่อสารมวลชน เนื่องในโอกาสครบรอบชาตกาล 100 ปี ในวันที่ 20 เมษายน 2554 นับเป็นคนไทยลำดับที่ 20 นับเป็นเกียรติประวัติแก่ประเทศไทยอย่างยิ่งอีกครั้งหนึ่ง

21. สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า 
ได้รับยกย่องเป็นบุคคลสำคัญของโลก ในฐานะที่ทรงมีผลงานดีเด่น ด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ประยุกต์ (สาธารณสุข) วัฒนธรรม สังคมศาสตร์ และมานุษยศาสตร์  เนื่องในวาระครบรอบ 150 ปี พระราชสมภพ ในวันที่ 10กันยายน พ.ศ.2555

22. หม่อมหลวงบุญเหลือ เทพยสุวรรณ  
นักเขียน และนักวิชาการภาษาไทย ได้รับยกย่องเป็นบุคคลสำคัญของโลก ในฐานะเป็นผู้มีผลงานดีเด่นด้านการศึกษา วัฒนธรรม ภาษา และวรรณคดี การส่งเสริมสถานภาพสตรี  และส่งเสริมสันติภาพ เนื่องในโอกาสครบรอบ ชาตกาล 100ปี ในวันที่ 13 ธันวาคม 2555

23. พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7
ทรงได้รับการยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก ในฐานะที่ทรงมีผลงานดีเด่นด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ วัฒนธรรม สังคมศาสตร์ และสื่อสารมวลชน เฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสวันพระบรมราชสมภพครบรอบ 10 ปีนักษัตร ในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2556

24. สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
ทรงได้รับการยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก ในฐานะที่ทรงมีผลงานดีเด่นด้านการศึกษาสำหรับเด็กหญิงและสตรีิ การศึกษาด้านสาธารณสุขศาสตร์ วัฒนธรรม วิทยาศาสตร์ประยุกต์ และสังคมและมนุษย์ศาสตร์ เฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสวันพระราชสมภพครบ 150 ปี เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2556

25. หม่อมงามจิตต์ บุรฉัตร ณ อยุธยา
ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติจากองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization – UNESCO) ประกาศให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก ในโอกาส 100 ปี ชาตกาล ในปี พ.ศ. 2558 ในฐานะผู้มีผลงานดีเด่นด้านสังคมสงเคราะห์ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การพัฒนาชุมชน และการศึกษาด้านวัฒนธรรม

26. ศาสตราจารย์ พันตรี ป๋วย อึ๊งภากรณ์
ได้รับการยกย่องจาก UNESCO ให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกในด้านการศึกษาและด้านเศรษฐศาสตร์เนื่องในโอกาสฉลองชาตกาลครบ 100 ปี เมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2559

27. เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี (หม่อมราชวงศ์เปีย มาลากุล) เสนาบดีกระทรวงธรรมการ (รมว.กระทรวงศึกษาธิการ)ในสมัยรัชกาลที่ 6 เกิดเมื่อ 16 เม.ย.2410 
เป็นผู้กราบทุลเสนอให้รัชกาลที่ 5 ทรงปรับปรุงระบบการศึกษาของไทย ร่างเป็น"โครงแผนการศึกษาในกรุงสยาม" และโครงการสร้างสถานศึกษาในระดับอุดมศึกษา เป็นผู้ประพันธ์คำร้องภาษาไทยเพลง "สามัคคีชุมนุม"โดยใช้ทำนองเพลง ออลด์แลงไซน์(Auld Lang Syne) นอกจากนี้ ยังได้แต่งหนังสือไว้หลายเล่ม เล่มหนึ่งที่มีชื่อเสียง คือ สมบัติผู้ดี ซึ่งกล่าวถึงหลักปฏิบัติ 10 ประการ ของผู้มีกาย วาจา ใจอันสุจริต

28. กําพล วัชรพล
อดีตผู้อํานวยการหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ และผู้ก่อตั้งโครงการโรงเรียนไทยรัฐวิทยาเพื่อชุมชนในชนบท จํานวน 111 แห่งเป็น “บุคคลสําคัญของโลก” ผู้มีผลงานดีเด่นด้านการศึกษาและสื่อสารมวลชน ระหว่างปี 2561-2562 และเปิด “พิพิธภัณฑ์นายกำพล วัชรพล” ในวันที่ 19 ส.ค. 62 โดยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ รักษาการประธานองคมนตรี ผู้แทนพระองค์เป็นประธานในงาน

องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) มีมติเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2560 ประกาศยกย่อง นายกำพล วัชรพล อดีตผู้อำนวยการหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ผู้ก่อตั้งโรงเรียนไทยรัฐวิทยา เพื่อชุมชนในชนบท และมูลนิธิไทยรัฐ ให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก ผู้มีผลงานดีเด่นด้านการศึกษาและด้านการสื่อสารมวลชน ประจำปี พ.ศ. 2561-2562

บุคคลเหล่านี้ได้สร้างรากฐานอันดีงาม และคุณงามความดีต่างๆ เป็นที่ประจักษ์ต่อคนทั้งโลก ถือเป็นความภาคภูมิใจของคนไทยทั้งประเทศ

รัฐบาลเตรียมจัดงานเฉลิมฉลองวาระ 100 ปี วันประสูติ สมเด็จพระเจ้าพี่นางฯ อย่างสมพระเกียรติ

 


Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar