ผลงานวิจัยของอังกฤษชี้ ใส่แมสก์แล้วปัง ดึงดูดเพศตรงข้ามมากขึ้น

  • ผลงานวิจัยของอังกฤษยืนยัน การใส่หน้ากากอนามัยทำให้คนหน้าตาดูดีขึ้น โดยเฉพาะการใส่หน้ากากสีฟ้า จะทำให้ผู้สวมใส่ดูดีมากที่สุด
  • การทดลองครั้งนี้มหาวิทยาลัยคาร์ดิฟฟ์แห่งเวลส์ ได้ใช้กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้หญิงจำนวน 43 คน มาโหวตให้คะแนนใบหน้าของผู้ชายในรูปแบบต่างๆ ทั้งที่มีการสวมหน้ากาก และไม่สวมหน้ากาก
  • งานวิจัยครั้งนี้ทำให้พบว่า ความชื่นชอบของคนเราเปลี่ยนแปลงได้ตามกาลเวลาและสถานการณ์ และการสวมหน้ากากอนามัยไม่ใช่ภาพลักษณ์ของคนป่วย ที่ต้องหลีกหนีให้ไกลอีกต่อไป
  • ต้องยอมรับว่าการระบาดของโควิด-19 ได้เปลี่ยนการใช้ชีวิต และมุมมองหลายๆ อย่างของคนทั่วโลกไปอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะการใช้ชีวิตประจำวันที่ต้องยอมรับว่า หากวันไหนลืมพกหน้ากากหรือแมสก์ออกจากบ้านไป อาจจะทำให้การใช้ชีวิตและพบปะผู้คนในวันนั้น ทำได้ยากลำบากมากขึ้น จนไปถึงขั้นขาดความมั่นใจเลยทีเดียว ดังนั้น จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าแมสก์เหล่านี้กลายเป็นของจำเป็นที่ต้องพกพาติดตัวไปไหนมาไหนด้วย แม้ว่าบางคนอาจจะรู้สึกไม่ชอบใจที่ต้องใส่แมสก์ปิดบังใบหน้าสวยๆ หล่อๆ ของตัวเองตลอดเวลาก็ตาม

แต่วันนี้ความคิดเหล่านั้นอาจจะเปลี่ยนไป เมื่อผลวิจัยล่าสุดจากมหาวิทยาลัยคาร์ดิฟฟ์ ในเวลส์ กลับพบว่า การสวมใส่หน้ากากหรือแมสก์ปกปิดใบหน้าครึ่งล่างนั้น จริงๆ แล้วอาจจะทำให้คนเราดูดีขึ้น และยังด฿งดูดเพศตรงข้ามได้มากขึ้นอีกด้วย

  • ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยคาร์ดิฟฟ์ ในเวลส์ ที่ทำการศึกษาเกี่ยวกับการสวมหน้ากากของผู้ชายและผู้หญิง ที่เริ่มทำการเก็บข้อมูลตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ปี 2021 หรือช่วง 7 เดือนหลังจากที่อังกฤษมีคำสั่งบังคับให้ประชาชนสวมหน้ากากพบว่า ผู้ชายและผู้หญิงที่สวมใส่หน้ากากปกปิดใบหน้าส่วนล่างจะถูกมองว่าดูดีขึ้น และเห็นความน่าดึงดูดจากดวงตามากขึ้น โดยจากการทดลองโดยให้ผู้หญิง 43 คน ให้คะแนนความน่าดึงดูดใจของใบหน้าผู้ชายจาก 1-10 คะแนน โดยมีทั้งภาพผู้ชายที่สวมหน้ากากผ้าสีพื้น สวมหน้ากากอนามัยสีฟ้า และภาพที่มีการใช้หนังสือสีดำปิดบังบางส่วนของใบหน้า และภาพที่ไม่ได้สวมหน้ากาก ซึ่งผลปรากฏว่า ใบหน้าของคนที่สวมหน้ากากจะมีความน่าดึงดูดใจมากกว่าไม่สวมหน้ากาก และที่สำคัญยังพบว่า คนที่สวมหน้ากากอนามัยสีฟ้ามีใบหน้าที่ดึงดูดใจมากที่สุด

 

นายแพทย์ไมเคิล ลูอิส แห่งคณะจิตวิทยา ของมหาวิทยาลัยคาร์ดิฟฟ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมวิจัยระบุว่า งานวิจัยครั้งนี้เป็นการพิสูจน์ว่า ความชื่นชอบของคนเราปรับเปลี่ยนได้ตามกาลเวลา เพราะช่วงก่อนที่จะมีการระบาดของโควิด-19 การสวมหน้ากากอาจจะทำให้ถูกมองว่าดูไม่ดี และเป็นตัวแทนของคนที่สุขภาพไม่แข็งแรง น่ารังเกียจจนถึงขั้นเสียบุคลิกได้ แต่ในเวลานี้ เมื่อทั่วโลกกำลังเผชิญกับโรคระบาด และการสวมหน้ากากเป็นสิ่งจำเป็นในการป้องกันโรค ภาพลักษณ์ของหน้ากากสีฟ้า หรือหน้ากากอนามัยกลับดูดีขึ้น เพราะเป็นสัญลักษณ์แทนตัวบุคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานเพื่อต่อสู้กับโรคร้าย และเมื่อเราต้องเผชิญกับภาวะที่รู้สึกไม่ปลอดภัย ทำให้คนเรารู้สึกว่ามีความมั่นใจและรู้สึกในเชิงบวกกับผู้ที่สวมใส่หน้ากากแบบนี้ไปด้วย นอกจากนี้เหตุผลที่สวมหน้ากากแล้วทำให้คนสวมดูน่าดึงดูดใจมากขึ้น เพราะทำให้ผู้มองใบหน้า โฟกัสไปที่ดวงตาของผู้ที่สวมใส่หน้ากากเป็นหลักนั่นเอง

งานวิจัยชิ้นนี้ยังเป็นการบ่งชี้ว่าโรคต่างๆ โดยเฉพาะโรคระบาด มีส่วนสำคัญในการเลือกคู่ โดยก่อนหน้านี้การแสดงสัญญาณว่ามีอาการป่วยหรือมีโรคจะทำให้คนดังกล่าวถูกตัดออกไปจากตัวเลือกทันที แต่ขณะนี้จะเห็นได้ว่าการสวมหน้ากากอนามัยไม่ได้เป็นสัญลักษณ์ของการเจ็บป่วยอีกต่อไป

ลูอิส ยังเปิดเผยงานวิจัยชิ้นอื่นๆ ก่อนหน้านี้ที่พบว่า การปิดบังใบหน้าครึ่งซ้าย หรือครึ่งขวาก็ทำให้ผู้คนดูน่าดึงดูดได้มากขึ้นเช่นกัน เนื่องจากสมองของคนเรามักจะพยายามสร้างภาพมาเติมเต็มช่องว่างที่หายไป และมักจะเป็นการเติมแต่งภาพให้เกินจริงด้วย ซึ่งก็คล้ายคลึงกับการทดลองล่าสุดนี้ ที่มีการปกปิดใบหน้าด้านล่าง ซึ่งเป็นการช่วยปิดบังจุดด้อยของบางคน ที่องค์ประกอบด้านล่างที่ดูไม่ดี แต่ในกรณีคนที่หน้าตาสวยหล่ออยู่แล้วก็ให้ผลการทดลองไม่ต่างกัน

ทั้งนี้ ผลงานวิจัยชิ้นนี้ได้ถูกตีพิมพ์และเผยแพร่ในวารสารวิทยาการปัญญา Principles and Implications ขณะที่งานวิจัยอีกชิ้นที่เป็นการใช้กลุ่มตัวอย่างผู้ชาย เป็นผู้ให้คะแนนฝ่ายหญิงด้วยการทดลองแบบเดียวกัน ยังไม่มีการเปิดเผยผลการทดลองแต่อย่างใด แต่นายแพทย์ลูอิสระบุว่า ผลการทดลองที่ได้มีความคล้ายคลึงกัน

ก่อนหน้าที่จะมีงานวิจัยชิ้นนี้ออกมา เคยมีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับหน้ากากอนามัย โดยมหาวิทยาลัยเซ็นทรัลฟลอริดาของสหรัฐฯ มาแล้ว แต่ครั้งนั้นเป็นการศึกษาวิจัยเพื่อยืนยันถึงประสิทธิภาพของหน้ากากในการช่วยคัดกรองและลดการแพร่กระจายเชื้อในระยะไกล

โดยนักวิจัยพบว่าละอองฝอยจากผู้ที่ติดเชื้อโควิดที่ไม่ได้สวมหน้ากากเมื่อพวกเขามีการพูด สามารถลอยไปในอากาศได้ถึง 4 ฟุต และหากผู้ติดเชื้อมีการไอ จะทำให้ละอองฝอยไปได้ไกลถึง 4.5 ฟุต ขณะที่ผู้ติดเชื้อที่สวมหน้ากากผ้าป้องกัน จะทำให้เชื้อหรือละอองฝอยดังกล่าวลอยออกไปได้ราว 2 ฟุตเท่านั้น โดยหากเป็นหน้ากาก 3 ชั้น ก็จะยิ่งป้องกันได้ดียิ่งขึ้น เพราะจะทำให้ละอองฝอยลอยออกมาได้เพียงในระยะ 0.5 ฟุตเท่านั้น ทำให้นักวิจัยบางส่วนเคยถกเถียงว่า มาตรการการเว้นระยะห่างอาจจะไม่จำเป็นมากนัก ตราบใดที่ยังคงมีการสวมหน้ากากกันอยู่ ผลสรุปจากงานวิจัยเหล่านี้จึงชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่า การสวมหน้ากากอนามัยอย่างเคร่งครัดในช่วงเวลานี้ไม่น่าจะส่งผลเสียอะไร เพราะนอกจากการสวมหน้ากากจะทำให้คนส่วนใหญ่ในสังคมลดความเสี่ยงในการติดเชื้อและแพร่เชื้อโรคต่างๆ โดยเฉพาะโควิด-19 ลงได้แล้ว ยังอาจจะทำให้หญิงสาวและชายหนุ่มมีโอกาสดีๆในการสร้างความประทับใจแรกเห็นให้กับคนที่เราแอบปลื้มอยู่ก็เป็นได้.

ผู้เขียน : อาจุมมาโอปอล

ที่มา : เดอะการ์เดียน , เดลิเมล์ ,คาร์ดิฟฟ์


Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar