นิวซีแลนด์หักดิบห้ามขายบุหรี่ให้เด็ก ต้นแบบในฝันที่ทั่วโลกรอคอย

นับเป็นกระแสฮือฮาไม่น้อย หลังจากทางการนิวซีแลนด์ประกาศที่จะผลักดันกฎหมาย ห้ามเยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 14 ปี ซื้อบุหรี่ตลอดชีพ ซึ่งหมายความว่า กลุ่มเยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 14 ปี หรือคนรุ่นใหม่ที่เกิดหลังจากปี 2008 ทั้งประเทศ จะไม่สามารถซื้อบุหรี่ได้อีกแล้ว แม้ว่าพวกเขาจะพ้นอายุ 14 ปีไปแล้วก็ตาม นับเป็นความเคลื่อนไหวล่าสุดของรัฐบาลนิวซีแลนด์ในการผลักดันการเลิกบุหรี่ และทำให้การสูบบุหรี่เป็นเรื่องผิดกฎหมายในประเทศ

ดร.อยีชา วีรอล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขของนิวซีแลนด์ เปิดเผยว่าทางภาครัฐต้องการแน่ใจว่าคนหนุ่มสาวจะไม่มีวันเริ่มสูบบุหรี่ ดังนั้นจึงออกกฎหมายปลอดบุหรี่สำหรับคนรุ่นใหม่ ด้วยการตัดช่องทางการซื้อผลิตภัณฑ์ยาสูบอย่างถูกกฎหมายสำหรับเยาวชนผู้ที่มีอายุ 14 ปี ขณะที่เกณฑ์อายุการสูบบุหรี่ตามกฎหมายจะลดลงทุกปี เริ่มตั้งแต่ปี 2023 หรือ 2 ปีข้างหน้า เพื่อสร้างคนรุ่นใหม่ที่ปลอดบุหรี่

ปัจจุบันนิวซีแลนด์ ซึ่งมีประชากร 5 ล้านคน ถูกคร่าชีวิตไปด้วยบุหรี่ไปราว 5,000 คนต่อปี ทำให้นิวซีแลนด์กลายเป็นหนึ่งในประเทศลำดับต้น ๆ ที่สูญเสียประชากรจากโรคที่สามารถป้องกันได้ นอกจากนี้ข้อมูลยังระบุด้วยว่า 4 ใน 5 ของผู้สูบบุหรี่ เริ่มสูบก่อนอายุ 18 ปี

แม้ว่าอัตราการสูบบุหรี่ต่อวันของนิวซีแลนด์จะลดลงในช่วงที่ผ่านมา โดยลดลงเหลือ 11.6% ในปี 2018 จาก 18% เมื่อสิบปีก่อน แต่อัตราการสูบบุหรี่สำหรับชาวพื้นเมืองอย่างเมารีและแปซิฟิกานั้นสูงกว่ามาก คือ 29% สำหรับชาวเมารี และ 18% สำหรับแปซิฟิกา โดยทางการนิวซีแลนด์ตั้งเป้าไว้ว่าจะลดจำนวนของชาวนิวซีแลนด์ที่สูบบุหรี่ให้เหลือเพียง 5 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากรภายในปี 2025 จากปัจจุบันนี้ที่มีจำนวนประชากรวัยผู้ใหญ่ที่สูบบุหรี่อยู่ราว 11 เปอร์เซ็นต์

อย่างไรก็ตาม นักวิจัยหลายคนต่างเห็นตรงกันว่า มาตรการหักดิบอย่างที่ใช้ในนิวซีแลนด์ ควรจะทำควบคู่ไปกับมาตรการอื่นๆควบคู่ไปด้วยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการลดจำนวนผู้สูบลงให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งผู้วางนโยบายของนิวซีแลนด์ก็คงตระหนักดีถึงเรื่องนี้ เพราะนอกจากการจำกัดอายุผู้ซื้อแล้ว รัฐบาลนิวซีแลนด์ยังประกาศมาตรการอื่นควบคู่ ไปด้วย ทั้งการลดปริมาณนิโคตินในผลิตภัณฑ์ยาสูบให้อยู่ในระดับที่ต่ำมาก การลดจำนวนร้านค้าที่สามารถขายบุหรี่ได้อย่างถูกกฎหมายจาก 8,000 แห่งเหลือประมาณ 500 แห่ง และเพิ่มงบสนับสนุนสำหรับบำบัดผู้ติดบุหรี่

ผู้เชี่ยวชาญหวังแนวทางนิวซีแลนด์จะกลายเป็นโมเดล

วาเอล อัล เดไลมี นักระบาดวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียซานดิเอโกระบุว่า การดำเนินการของนิวซีแลนด์ครั้งนี้จะเป็นเหมือนตัวอย่าง หรือแม่แบบ หรือเป็นเหมือนการทดลอง ถ้ามันได้ผล แน่นอนว่าหลายประเทศจะนำไปใช้ตามอย่างในอนาคต

เจฟฟรีย์ ฟง นักวิจัยเกี่ยวกับนโยบายควบคุมยาสูบแห่งมหาวิทยาลัย วอเตอร์ลู ในรัฐออนแทริโอระบุว่า นโยบายควบคุมยาสูบล่าสุดของนิวซีแลนด์เป็นนโยบายที่โดดเด่นไม่เหมือนใคร ต่างจากมาตรการที่เคยมีมา รวมทั้งแนวทางการลดการสูบบุหรี่ที่เคยถูกหยิบยกมาพูดถึง แต่ไม่เคยนำไปปฏิบัติใช้ได้จริง ซึ่งเขารู้สึกตื่นเต้นกับนโยบายอันทรงพลังที่อาจจะส่งผลต่อโลกในอนาคต แม้ว่าการนำร่องเป็นประเทศแรกอาจจะคาดเดาได้ยากว่าจะเกิดอะไรขึ้นตามมา แต่หากได้ผลดี ก็เป็นการเปิดประตูและปูทางให้ชาติอื่นๆพิจารณาตามอย่างได้ไม่ยาก

ขณะที่ แพทย์หญิง นาตาลี วอล์กเกอร์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการเสพติดของมหาวิทยาลัยโอ๊กแลนด์ระบุ นิวซีแลนด์นับเป็นผู้นำโลกอีกครั้ง จากแผนการที่จะทำให้นิวซีแลนด์เป็นประเทศปลอดบุหรี่ภายในปี 2025

ปัจจุบันภาษีบุหรี่ในนิวซีแลนด์ค่อนข้างสูงอยู่แล้ว ทำให้ราคาต่อซองอยู่ที่ราว 20 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 680 บาท ทำให้ตลาดมืดบุหรี่ยิ่งเติบโตขึ้น และแน่นอนว่าหากคำสั่งห้ามซื้อบุหรี่ในเยาวชนมีผลบังคับใช้ คนก็อาจจะหนีไปซื้อในตลาดมืดมากยิ่งขึ้น

ขณะเดียวกันกลุ่มของผู้ประกอบธุรกิจสถานีบริการน้ำมัน และร้านขายของชำก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่คัดค้านกฎหมายดังกล่าว เพราะมองว่าการสั่งห้ามขาย เป็นการตัดช่องทางทำมาหากิน และหวังว่ารัฐบาลจะหาแนวทางอื่นๆในการลดการสูบบุหรี่

การบังคับใช้กฎหมายในนิวซีแลนด์อาจง่ายกว่าที่อื่นๆ

ประเทศนิวซีแลนด์มีปัจจัยสนับสนุนหลายๆอย่างที่อาจจะทำให้ได้เปรียบกว่าประเทศอื่น ทั้งสภาพภูมิประเทศที่เป็นเกาะ และการเมืองที่เป็นเสรีนิยม ทำให้การวางนโยบายในทุกเรื่องค่อนข้างรวดเร็วเด็ดขาดและมีประสิทธิภาพหากเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ

อย่างในสหรัฐฯ การห้ามสูบบุหรี่ในระดับรัฐบาลกลางค่อนข้างเป็นไปได้ยาก และไม่ค่อยเกิดขึ้นมากนัก มีเพียงการออกคำสั่งเฉพาะสถานที่ อย่างในสมัย ประธานาธิบดี บิล คลินตัน ที่เคยลงนามในคำสั่งห้ามการสูบบุหรี่ในอาคารรัฐบาลกลางในปี 1997 และกระทรวงคมนาคมที่สั่งห้ามผู้โดยสารทุกคนสูบบุหรี่บนเครื่องบินในปี 2000 แต่ตามรัฐทั่วไปไม่ค่อยมีข้อห้ามในการสูบบุหรี่ภายในอาคาร ผับบาร์ หรือธุรกิจต่างๆ

ทั้งนี้ แม้ว่ามาตรการห้ามการจำหน่ายบุหรี่แก่เยาวชนชาวนิวซีแลนด์จะยังคงต้องผ่านกระบวนการทางกฎหมาย ท่ามกลางเสียงคัดค้านของคนบางกลุ่ม แต่คาดว่าไม่น่าจะมีอะไรเปลี่ยนแปลง เนื่องจากนโยบายนี้เป็นนโยบายของพรรคแรงงาน ซึ่งครองเสียงข้างมากในรัฐสภานิวซีแลนด์อยู่แล้ว  ซึ่งทันทีที่สภาไฟเขียวกฎหมายดังกล่าวจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในปี 2022 และเริ่มขยับปรับลดอายุผู้ซื้อตั้งแต่ปี 2023 เป็นต้นไป ซึ่งทั่วโลกน่าจะเห็นผลของกฎหมายนี้ในอนาคตอันใกล้ ว่าความฝันที่นิวซีแลนด์จะกลายเป็นประเทศปลอดบุหรี่จะเป็นฝันที่เป็นจริง หรือเป็นเพียงฝันกลางวัน.

ผู้เขียน : อาจุมมาโอปอล

ที่มา : เอ็นพีอาร์ดอทโออาร์จี  , รอยเตอร์ 


Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar