สนง.สถิติ เผยสำรวจสวัสดิการรัฐ พบคนพึงพอใจบริการ "สิทธิบัตรทอง" มากกว่า "สิทธิประกันสังคม"

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2566 ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้มีมติรับทราบผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับสวัสดิการของรัฐ พ.ศ.2565 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) เสนอ ซึ่งได้ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป ทุกจังหวัดทั่วประเทศ จำนวน 6,970 คน ระหว่างวันที่ 17-31 ต.ค. 2565

สำหรับผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน ในด้านการใช้บริการของรัฐด้านการรักษาพยาบาล ได้แก่ สิทธิข้าราชการ สิทธิประกันสังคม และสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า พบว่า ประชาชนมากกว่า 97% ระบุว่าไม่มีปัญหาในการใช้บริการ และน้อยกว่า 2% มีปัญหา เช่น การบริการล่าช้ารอคิวนาน และต้องใช้บริการเฉพาะโรงพยาบาลตามสิทธิเท่านั้น

ในส่วนของความพึงพอใจในการใช้บริการด้านการรักษาพยาบาล สำหรับประเภทสถานพยาบาล พบว่า ประชาชนที่เข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลเอกชน 76.8% มีความพึงพอใจมาก-มากที่สุด และ 1% มีความพึงพอใจน้อย-น้อยที่สุด ส่วนประชาชนที่เข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลของรัฐ 70.4% มีความพึงพอใจมาก-มากที่สุด และ 3.6% มีความพึงพอใจน้อย-น้อยที่สุด

ขณะที่สิทธิการรักษาพยาบาล พบว่า ประชาชนที่ใช้สิทธิประกันสุขภาพ/ประกันชีวิต 86.5% มีความพึงพอใจมาก-มากที่สุด รองลงมา คือ สิทธิสวัสดิการข้าราชการ จ่ายเงินเอง สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และสิทธิกองทุนประกันสังคมตามลำดับ

ทั้งนี้ ผลการสำรวจด้านสวัสดิการที่ประชาชนต้องการให้รัฐจัดเพิ่มเติม พบว่าประชาชนกว่า 93.5% ต้องการการสนับสนุนค่าใช้จ่ายให้กับครัวเรือนที่เลี้ยงดูบิดา/มารดาที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ขณะที่ประชาชน 87.6% ต้องการการจัดสวัสดิการศูนย์เด็กเล็ก/ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในหน่วยงาน/ใกล้สถานที่ทำงาน ขณะที่ประชาชน 85.9% ต้องการการจัดสวัสดิการขนส่งสาธารณะฟรีให้กับเด็ก/เยาวชนที่มีอายุไม่เกิน 25 ปี

ในส่วนของการจัดเก็บภาษีผู้ที่มีรายได้ เพื่อนำมาจัดสวัสดิการให้ครอบคลุมทุกช่วงวัย พบว่าประชาชน 44.6% ยินยอมให้จัดเก็บได้ โดยให้เหตุผลว่า 1. เพื่อให้ได้สวัสดิการที่ครอบคลุมและทั่วถึง 2. ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น 3. ลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเท่าเทียมในสังคม ขณะที่ประชาชน 37.5% ไม่ยินยอมให้จัดเก็บโดยให้เหตุผลว่า 1. ไม่มีเงินเพียงพอที่จะเสียภาษี 2. กลัวจัดสวัสดิการให้ประชาชนได้ไม่ทั่วถึง 3. ไม่มีหลักเกณฑ์/กฎหมายที่แน่นอนที่จะรับประกันการจัดสวัสดิการให้

ขณะเดียวกันยังพบว่ามีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย เช่น ควรจัดศูนย์ดูแลผู้สูงอายุในหมู่บ้าน/ชุมชน เพื่อรองรับผู้สูงอายุที่มีมากขึ้น และลดการถูกทอดทิ้งไม่ให้อยู่เพียงลำพัง พร้อมทั้งจัดให้มีกิจกรรมนันทนาการส่งเสริมคุณภาพชีวิต เช่น การจ้างนักศึกษาจบใหม่ที่มีภูมิลำเนาในหมู่บ้าน/ชุมชนเป็นอาสาสมัครร่วมกับเจ้าหน้าที่ อสม. เจ้าหน้าที่สาธารณสุข เจ้าหน้าพี่พัฒนาสังคม และ อบต./เทศบาลในการช่วยดูแลศูนย์ และให้ผู้สูงอายุมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือดูแลกัน

พร้อมกันนี้ ยังมีข้อเสนอว่าควรสร้างความเชื่อมั่นในการรักษาพยาบาลให้กับประชาชนในการใช้สิทธิการรักษาพยาบาลทุกประเภทให้มีความเท่าเทียม ทั่วถึง และครอบคลุมในทุกพื้นที่ เช่น คุณภาพของยา การบริการและความสะดวกรวดเร็ว

นอกจากนี้ยังควรส่งเสริม/สนับสนุนสวัสดิการในเรื่องคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนเพิ่มเติม เช่น ค่าใช้จ่ายให้กับครัวเรือนที่เลี้ยงดูบิดา/มารดาที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป จัดศูนย์เด็กเล็ก/ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กใกล้สถานที่ทำงาน      และจัดบริการขนส่งสาธารณะฟรีให้กับเด็ก/เยาวชนที่มีอายุไม่เกิน 25 ปี


Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar