สธ.เตรียมแผนรองรับ "โควิด-19" เป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง

หลังวันที่ 1 ต.ค.เป็นต้นไป กระทรวงสาธารณสุขจะใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ ในการบริหารสถานการณ์โควิด-19 ย้ำว่า ผู้ป่วยยังเข้าถึงยาและการรักษาเหมือนเดิม โดยเฉพาะผู้ป่วยอาการหนักใช้สิทธิ UCEP Plus รักษาได้ทุกที่จนหายป่วย

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวง แถลงแผนป้องกันและควบคุมโรคโควิด-19 หลังยุบ ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) และปรับเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.นี้เป็นต้นไป และใช้กลไก พ.ร.บ.โรคติดต่อบริหารสถานการณ์

นายอนุทิน กล่าวว่า ภาพรวมมีความปลอดภัยเพิ่มขึ้นมาก ประชาชนมากกว่าร้อยละ 92 มีภูมิคุ้มกันจากการฉีดวัคซีนถึง 143 ล้านโดส และบางส่วนมีภูมิคุ้มกันจากการติดเชื้อตามธรรมชาติ แม้ปรับให้เป็นโรคที่ต้องเฝ้าระวังแต่การเข้าถึงการรักษายังคงเป็นไปตามสิทธิ ผู้ป่วยอาการฉุกเฉินวิกฤตเข้ารับการรักษาได้ทุกที่ ทั้งสถานพยาบาลรัฐหรือเอกชนตามสิทธิ UCEP Plus จนกว่าจะหายป่วย ยืนยันความพร้อมการสำรองยา วัคซีน และเตียงรองรับสถานการณ์

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค คาดการณ์ว่าปี 2566 อาจพบการระบาดในลักษณะเพิ่มขึ้นหรือลดลงตามฤดูกาลเหมือนกับโรคไข้หวัดใหญ่ ทั้งนี้ เมื่อเข้าสู่ระยะเฝ้าระวัง แบ่งเป็น 4 ระยะ คือ เฝ้าระวังผู้ป่วยในโรงพยาบาล การระวังแบบกลุ่มก้อน เฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยงนอกสถานพยาบาล และเฝ้าระวังเชื้อกลายพันธุ์ ขณะเดียวกันแนะนำให้ตรวจ ATK เมื่อมีอาการป่วยทางเดินหายใจ ส่วนคนไม่มีอาการป่วยไม่ต้องตรวจ และแนะนำให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัย เมื่ออยู่ในสถานที่แออัด อากาศไม่ถ่ายเท สำหรับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น หากเข็มสุดท้ายเกิน 4 เดือน ควรมารับวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน โดยเฉพาะกลุ่ม 608 ขณะนี้มีวัคซีนสำรอง 42 ล้านโดส ใช้ได้อย่างน้อย 6 เดือน

ส่วนการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นในปีหน้าจะเป็นอย่างไร จะพิจารณาจากปัจจัยว่ามีเชื้อกลายพันธุ์หรือไม่ รวมทั้งการผลิตวัคซีนรุ่นใหม่ ส่วนยารักษา ขณะนี้มีฟาวิพิราเวียร์คงเหลือ 5.6 ล้านเม็ด เพียงพอใช้ 3 เดือน โมลนูพิราเวียร์ คงเหลือ 20.3 ล้านเม็ด เพียงพอใช้ 4 เดือนครึ่ง เรมเดซิเวียร์ คงเหลือ 2.3 หมื่นขวด เพียงพอใช้ครึ่งเดือน และมีแผนจะจัดซื้อฟาวิพิราเวียร์เพิ่ม 10 ล้านเม็ด โมลนูพิราเวียร์ 35 ล้านเม็ด และเรมเดซิเวียร์ 3 แสนขวด

แผนดูแล "โควิด" หลังเป็นโรคเฝ้าระวัง

ผลจากการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ส่งผลให้บทบาทหน้าที่ในการจัดการโควิด-19 กลับมาสู่หน่วยงานรับผิดชอบเดิมอย่างกระทรวงสาธารณสุข ที่มีการวางแผนร่วมกันในการเปลี่ยนผ่าน ทั้งการเฝ้าระวัง แนวทางการรักษา และการจัดการวัคซีน ภายใต้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ 2558 โดยใช้กลไก คณะกรรมการโรคติดต่อทั้งในระดับชาติ และระดับพื้นที่

การปรับเปลี่ยนการรักษากรณีติดเชื้อ

กรณีติดเชื้อแล้วไม่มีอาการ-อาการน้อย ไม่ต้องกักตัว แต่ให้เน้นมาตรการ DMHT อย่างเคร่งครัด 5 วันโดยเฉพาะการใส่หน้ากากอนามัย-ล้างมือ

สำหรับการรักษา ยังคงรักษาฟรีตามสิทธิ สำหรับผู้ป่วยสีเขียว  (ไม่มีอาการ และมีอาการน้อยแต่ไม่มีปัจจัยเสี่ยง) เน้นการรักษาแบบผู้ป่วยนอก (เจอ แจก จบ) โดยผู้ติดเชื้อสามารถรับบริการทางการแพทย์ ในการรักษาโรคโควิด-19 ทางระบบออนไลน์ หรือ Telemedicine ผ่าน 4 แอปพลิเคชั่น ได้แก่ Clicknic Totale Telemed MorDee และ Good Doctor ซึ่งจะมีบริการส่งยาฟรีถึงบ้าน

สำหรับผู้ป่วยที่มีความเสี่ยง มีอาการรุนแรง หรือปอดบวมต้องรับออกซิเจน จะเข้ารับการรักษาแบบผู้ป่วยใน

ในกรณีที่ผู้ติดเชื้ออาการทรุดอย่างรวดเร็ว (อาการฉุกเฉินวิกฤตสีแดง) สามารถเข้ารับการรักษาได้ทุกที่ทั้งสถานพยาบาลภาครัฐหรือเอกชนตามสิทธิ UCEP Plus จนกว่าจะหายป่วย (ซึ่งแตกต่างจาก UCEP ทั่วไปที่รักษาได้ 72 ชั่วโมงจากนั้นต้องส่งไปรักษาตามสิทธิ) ส่วนแรงงานต่างด้าวหากมีประกันสุขภาพก็สามารถใช้ประกันในการรักษาได้ฟรี

การฉีดวัคซีน

ประชาชนยังสามารถรับบริการฉีดวัคซีนโควิด 19 ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ตามสถานพยาบาลที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กทม.กำหนด โดยกลุ่มเฉพาะกลุ่ม 608 “ควร” ฉีดเข็มกระตุ้นทุก 4 เดือน ส่วนบุคคลทั่วไปสามารถฉีดเข็มกระตุ้นได้ทุก 4-6 เดือน ได้ตามความสมัครใจ

แผนการดำเนินการในระยะ 1 ปี

กระทรวงสาธารณสุข คาดการณ์ว่าจะคงสถานะเฝ้าระวังไปอีก 1 ปี (ต.ค.65- ก.ย.66)  โดยคาดว่าปี 2566 อาจมีการระบาดเกิดขึ้นตามฤดูกาลคล้ายไข้หวัดใหญ่ อาจพบการติดเชื้อเป็นระยะในบางพื้นที่ 1-3 ครั้งต่อปี ส่วนระบบเฝ้าระวังต่อจากนี้ใช้ 4 ระบบในการติดตามข้อมูลการระบาด ดังนี้ ยังมีการติดตามอข้อมูลอย่างเป็นระบบ ประกอบด้วย 4 ระบบ คือ

1. การเฝ้าระวังผู้ป่วยใน รพ. Hospital Base ซึ่งมีการดำเนินการแล้ว

2. การเฝ้าระวังเป็นกลุ่มก้อน เช่น โรงเรียน ตลาด ชุมชน ศูนย์พักพิง มีทีมไปสอบสวนโรค และประกาศพิจารณาโรคระบาดเฉพาะพื้นที่

3. การเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยงเฉพาะนอก รพ. เช่น โรงเรียน สถานศึกษา บ้านพักคนชรา ผับบาร์ แรงงานต่างด้าว

4. การเฝ้าระวังสายพันธุ์กลายพันธุ์

ขอให้มั่นใจว่าระบบรัดกุมได้มาตรฐานสากล สามารถตรวจจับการระบาดควบคุมโรคได้ทันท่วงที


Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar