นายกฯบินต่อจากออสเตรเลีย ไปเยอรมัน-ฝรั่งเศส ผลักดัน FTA ไทย-อียู วีซ่าฟรีเชงเก้น และพบหารือภาคเอกชนระดับโลก เพื่อขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ดึงดูดการลงทุนและการท่องเที่ยว

นายกฯ เยือนเยอรมนี – ฝรั่งเศสอย่างเป็นทางการ กระชับความสัมพันธ์หารือผู้นำทั้งสองประเทศ

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และคณะ มีกำหนดการเยือนสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีและสาธารณรัฐฝรั่งเศสอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 7-14 มีนาคม 2567 โดยการเดินทางเยือนสาธารณรัฐฝรั่งเศสและสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีในครั้งนี้ เพื่อแลกเปลี่ยนนโยบายรัฐบาล ยืนยันค่านิยมเสรีประชาธิปไตยของไทย สร้างความเชื่อมั่น และดึงดูดการลงทุน ตลอดจน ผลักดันความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน และความตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ไทย-สหภาพยุโรป การขอยกเว้นการตรวจลงตราเชงเกนให้กับผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดาของไทย รวมทั้ง การหารือในประเด็นเพื่อความร่วมมือในการแก้ปัญหาความท้าทายในโลกร่วมกัน อาทิ การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน พลังงานสะอาด และความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งกับฝรั่งเศส ไทยมีแผนจะยกระดับความสัมพันธ์ไปสู่ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ภายในปี 2567 ตามแผนการดำเนินความสัมพันธ์ไทย-ฝรั่งเศส (ค.ศ. 2022-2024) ส่วนเยอรมนี นายกรัฐมนตรีจะไปย้ำและเสนอยกระดับความสัมพันธ์สู่เป้าหมายการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างกัน

พบหารือกับภาคเอกชนสำคัญระดับโลก

การเดินทางเยือนทั้งสองประเทศอย่างเป็นทางการครั้งนี้ มีกำหนดการสำคัญ ๆ เช่น การหารือกับผู้นำของทั้งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีและสาธารณรัฐฝรั่งเศส การแถลงข่าวร่วมกันในส่วนของภารกิจสำคัญที่เกี่ยวข้องกับภาคเอกชน อาทิ

  •  การเข้าร่วมงาน ITB Berlin 2024 ณ กรุงเบอร์ลิน สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี
  • การเข้าร่วมพิธีเปิดงาน MIPIM 2024
  • เยี่ยมชมนิทรรศการ และกล่าวปาฐกถาในงานเลี้ยงรับรองประจำปีของสมาคมธุรกิจขนาดกลางและ ขนาดย่อมเยอรมนี (German Association for Small and Medium-Sized Businesses: BVMW)
  • การเดินทางเยือนยุโรปครั้งนี้ มีกำหนดการพบหารือกับภาคเอกชนสำคัญระดับโลกในหลายสาขา อาทิ อุตสาหกรรมอากาศยาน อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว อุตสาหกรรมเเฟชั่น และอุตสาหกรรมค้าปลีก

อียูเป็นคู่ค้าอันดับ 4 ของไทย

อียูเป็นคู่ค้าอันดับ 4 ของไทย รองจากจีน สหรัฐฯ และญี่ปุ่น โดยในช่วง 10 เดือนของปี 2566 (ม.ค.-ต.ค.) การค้าระหว่างไทยและอียู มีมูลค่า 35,013.34 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (1,206,685.59 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 1.96% คิดเป็นสัดส่วนการค้ารวม 7.30% ของการค้าทั้งหมดของไทยกับโลก โดยไทยส่งออกไปอียู มูลค่า 18,247.73 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (624,969.91 ล้านบาท) ลดลง 4.42% และไทยนำเข้าจากอียู มูลค่า 16,765.61 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (581,715.68 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 9.94%

  • สินค้าส่งออกสำคัญ เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ แผงวงจรไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์ยาง
  •  สินค้านำเข้าสำคัญ เช่น เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ และเครื่องมือเครื่องใช้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และการแพทย์

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar